สัมผัสหนึ่งเดียวในไทยประเพณี

“ตากธัมม์ ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า”

ณ วัดสูงเม่น จังหวัดแพร่

หากพูดถึงประเพณีตากธัมม์ หลาย ๆ คนอาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าเป็นคัมภีร์ใบลาน ทุกคนจะเข้าใจทันทีว่า เป็นหนังสือหรือคัมภีร์สมัยโบราณประเภทหนึ่ง ที่บันทึกตัวหนังสือลงบนใบลานที่ต้องเจาะรูและร้อยสายสนองเพื่อเก็บรักษาไว้อย่างดี ซึ่งใน ต.สูงเม่น อ.สูงเม่น จังหวัดแพร่ มีคัมภีร์ใบลานอยู่เป็นจำนวนมากจึงมีประเพณี “ตากธัมม์ ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า” ที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของ “ครูบากัณจนะ อรัญญวาสีมหาเถร หรือ ครูบามหาเถร” อดีตเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น และเพื่อฟื้นฟูประเพณีอันดีงาม พร้อมสืบสานวัฒนธรรมทางศาสนา โดยทั้งนี้เราได้รับเชิญจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ ให้เข้าร่วมประเพณีอันดีงามหนึ่งเดียวในประเทศไทยนี้

เมื่อเดินทางมาถึง วัดสูงเม่น ต.สูงเม่น อ.สูงเม่น จังหวัดแพร่ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ กราบสักการะ “ครูบากัณจนะ อรัญญวาสีมหาเถร หรือ ครูบามหาเถร”  ซึ่งถือว่าเป็นปฐมครูบาเจ้าแห่งภาคเหนือ สันนิษฐานว่าท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ.2332 มีอายุยาวนานถึง 4 รัชกาล โดยท่านมรณภาพในปี 2421 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 พื้นเพดั้งเดิมท่านเป็นคนแพร่หลังจากอุปสมบท ได้ศึกษาพระไตรปิฎกมูลกัจจายนะ ปรมัตถ์ สัททาทั้ง 80 มัด สมัญญาภิธาน จนแตกฉานในธรรมทั้งหมด และเป็นผู้สร้างคุณงาม ความดีไว้จำนวนมาก อาทิ จัดสร้างและรวบรวมเขียนธรรมใบลาน เป็นภาษาบาลี บรรจุไว้ในพระไตรปิฎกวัดสูงเม่น มี 2,567 มัด นับเป็นผูกได้ 8,845 ผูก และยังได้นำไปบรรจุไว้ที่หลวงพระบางอีกจำนวนมาก หลังจากนั้น ก็เข้าไปกราบนมัสการ “พระครูวิบูลสรภัญ” รองเจ้าอาวาสวัดสูงเม่นและผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน ที่ออกมาต้อนรับและเราได้มีโอกาสได้ทดลองเขียน “ใบลาน” และ  “ห่อคัมภีร์ใบลาน” เพื่อสืบสานประเพณีอันดี

            หลังจากนั้น ขบวนงานประเพณี “ตากธัมม์ ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า” ก็เดินทางมาถึง วัดสูงเม่น พร้อมกับคัมภีร์ใบลานจำนวนมากแล้ว ก็ยังมีโชว์ของชาวบ้าน ต.สูงเม่น และพื้นที่ข้างเคียง ที่นำมาแสดงให้กับนักท่องเที่ยวได้รับชมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น “รำกลองสะบัดชัย” และ ชุดรำอื่น ๆ อีกด้วย

หากใครสนใจรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแพร่และประเพณี “ตากธัมม์ ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า” สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ โทร. 0-5452-1127

ข้อมูลเพิ่มเติม

การตากธัมม์ : เกิดขึ้นโดยดำริของครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร ที่เล็งเห็นความสำคัญของการรักษาคัมภีร์ธัมม์จานวนมาก โดยใช้วิธีการถวายธัมม์หรือการตานธัมม์ มาเป็นปฐมเหตุในการจัดประเพณีตากธัมม์ ซึ่งมีการคัดลอก การตรวจเช็ค การรักษาความสะอาด การนำคัมภีร์ธัมม์ออกมาตากแดด และการแห่คัมภีร์ธัมม์

การตานข้าวใหม่ :  เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณชาวบ้านจะนำข้าวที่เก็บเกี่ยวช่วงต้นฤดูกาลมาถวายด้วยวิธีต่างๆ เช่น ตักบาตร ตานขันข้าว เพื่ออุทิศไปหาพ่อแม่และบรรพบุรุษผู้ล่วงลับและเป็นการขอขมาพระแม่โพสพ ก่อนที่จะนำมารับประทาน

การหิงไฟพระเจ้า :  เป็นการนำไม้ขนาดกว้าง 1 นิ้ว ยาวประมาณ 40-50 นิ้ว มาปอกเปลือกแล้วทาสีเหลือง นำไม้ไปประเคนที่ประธาน แล้วนำเอามารวมกันทำเป็นกระโจมไว้ด้านหน้าวิหาร เพื่อทาพิธีจุดไฟ ซึ่งในอดีตพิธีนี้ปฏิบัติกันเพื่อให้ความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาวแด่พระสงฆ์และผู้มาร่วมพิธี

#RideExplorer #ตากธัมม์ #แพร่ #amazingไทยเท่

 

 

 

Loading Facebook Comments ...

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here