ชวนเที่ยวงาน “ท่าม่วงบ้านฉันดีและงามครั้งที่ ๗”

ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ กุมภาพันธ์ นี้

“ตรุษจีนสุขหรรษา รวมประชา ๔ วัฒนธรรม”

Chinatown ณ ย่านเก่าท่าม่วง

เมื่อพูดถึง “ท่าม่วง” เมื่อ๑๐ปีก่อนอาจมีน้อยคนที่จะรู้จัก หรือเคยทราบว่าชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในชื่อ “ตลาดนางลอย” ซึ่งในอดีตชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งเศรษฐกิจการค้าขายที่มีความเฟื่องฟูและมีผู้คนพลุกพล่านอันดับต้นๆ ของเมืองกาญจน์ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของท่าน้ำใหญ่ที่มีเรือสินค้าจากในและนอกจังหวัด ล่องมาเพื่อขนถ่ายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้เกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่จนทำให้บ้านเรือนเกิดเสียหายเกือบทั้งหมดจนต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (๒๔๘๕-๒๔๘๘) เศรษฐกิจของท่าม่วงได้มีการฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งเนื่องจากภูมิประเทศของชุมชนที่ตั้งอยู่ระหว่างค่ายของทหารญี่ปุ่น ๒ ค่าย ความเป็นอยู่ของชาวท่าม่วงจึงแตกต่างจากหลายๆแห่งในประเทศไทยคือไม่ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงหรือเกิดความเสียหายจากสงคราม ด้วยเหตุนี้แม้เมื่อสงครามโลกครั้งที่๒ ยุติลง แต่การขยายตัวของตลาด สภาพความเป็นอยู่ความเจริญด้านการแพทย์การรักษาพยาบาลยังคงเดินหน้าพัฒนาต่อไป


วิถีชีวิตของชาวท่าม่วงมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อมีการตัดถนนแสงชูโตและการสร้างเขื่อนแม่กลอง (เดิมชื่อเขื่อนวชิราลงกรณ์) ในช่วงปี ๒๔๙๒-๒๕๐๗ ส่งผลกระทบต่อย่านการค้าที่เคยใช้การสัญจรทางน้ำของแม่น้ำแม่กลองเป็นหลัก ค่อยๆ เกิดความซบเซาทีละน้อย ร้านค้าทยอยปิดกิจการ มีการอพยพไปอยู่บริเวณใกล้ถนน หลังปีพ.ศ.๒๕๒๐ ตลาดที่เคยมีผู้คนพลุกพล่านจึงคงเหลือแค่ในความทรงจำ จะมีก็แต่ร่องรอยของความรุ่งเรืองในอดีตที่พบเห็นจากสถาปัตยกรรมของอาคารสไตล์ชิโนโปตุกิสและเรือนแถวไม้ที่มีให้ได้พบเห็นมากกว่า ๘๐ หลังในชุมชน จนในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ย่านตลาดเก่าท่าม่วง ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์สำหรับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทชุมชน อีกทั้งได้รับการคัดเลือกโดยกระทรวงวัฒนธรรมในการเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประจำ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ อีกด้วย


ปัจจุบันย่านตลาดเก่าท่าม่วงถือเป็นสถานที่ที่ผู้คนที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงการเป็นกรณีศึกษากับความท้าทายที่ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไปจะได้นำต้นทุนในมือ มาถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อให้เกิดการต่อยอดภายใต้การผสมผสานความต่างทางความเชื่อ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและการเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกชีวิตในชุมชนท่าม่วง


เมื่อย้อนกลับไปในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ งานท่าม่วงบ้านฉันดีและงามครั้งที่๑ ได้ถูกจัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนของเราได้เรียนรู้และเกิดความผูกพันกับบ้านเกิด ในปัจจุบัน งานท่าม่วงบ้านฉันดีและงาม ได้เติบโตก้าวหน้าจนกลายเป็นกิจกรรมประจำปีที่กำหนดอยู่ในปฏิทินจังหวัดกาญจนบุรี สำหรับคนพื้นถิ่น งานท่าม่วงบ้านฉันดีและงามคือโอกาสและช่วงเวลาที่เพื่อนๆญาติสนิทมิตรสหายจะได้มาเตร็ดเตร่พบปะ พูดคุยถึงความทรงจำในอดีต สำหรับผู้มาเยี่ยมเยือนคือการได้มาเดินดูความสวยงามของสถาปัตยกรรม ๒ รูปแบบ ได้แก่เรือนแถวไม้และอาคารสไตล์ชิโนโปตุกิสที่มีการตกแต่งด้วยแสงไฟอย่างปราณีต บรรจงคงซึ่งเสน่ห์ของวิถีและแนวคิดที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวแบบบ้านฉันที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละปี การเดินเยี่ยมชมกิจกรรม นิทรรศการ การสาธิตศิลปะและการทำอาหารพื้นถิ่น การแสดงบนเวที การเซลฟี่แชะแชร์ส่งให้เพื่อนฝูง และที่ขาดไม่ได้คือการได้ลิ้มลองของอร่อยบนถนนสายวัฒนธรรม จากร้านของดีของเด็ดเอร็ดอร่อย ของต้องซื้อกลับจากท่าม่วง เหล่านี้คือกิจกรรมที่จะพบเห็นโดยรอบบริเวณงานในทุกๆ ปี
ขอเชิญมาร่วมงานท่าม่วงบ้านฉันดีและงามครั้งที่๗ ระหว่างวันที่๑๕-๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ระหว่างเวลา ๑๗.๐๐ – ๒๒.๐๐ น. ณ ย่านตลาดเก่าท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ถึงแม้ว่าช่วงวันจัดงานจะผ่านวันตรุษจีนไปแล้ว แต่ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะใช้โอกาสนี้ร่วมฉลองด้วยกันอีกครั้งกับธีม “ตรุษจีนสุขหรรษา รวมประชา ๔ วัฒนธรรม ” กับรูปแบบ Chinatown ที่ย่านเก่าท่าม่วง มารวยๆ เฮงๆ ปังๆ กับบรรยากาศที่แสนอบอุ่น เชิญร่วมแต่งกายสไตล์ ๔ วัฒนธรรม แบบไทยๆ เดินก็ชิล ใส่ Chinese พริ้วๆ ก็งาม สายแชะไม่ควรพลาด มาร่วมรำลึกถึงความงดงามของรากวัฒนธรรมดั่งเดิมที่มีเสน่ห์ ในวิถีของท่าม่วงบ้านเรา ท่าม่วงบ้านฉัน ในบรรยากาศ แบบกันเอ๊ง กันเอง ร่วมประทับใจให้หายคิดถึงอีกครั้ง

งาน ท่าม่วงบ้านฉันดีและงาม ครั้งที่๗ ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ระหว่างเวลา ๑๗.๐๐ – ๒๒.๐๐ น. ณ ย่านตลาดเก่าท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ติดตามเพจ ท่าม่วงบ้านฉันดีและงาม

Loading Facebook Comments ...

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here