สุดทางฝัน ฝ่าฟันอุปสรรค

พิชิต IRONMAN 70.3 ครั้งแรกในชีวิต

เรื่อง : -เดอะ กุ่ย-

ภาพ : Itthikorn Chockchaikit

เมื่อสมัยเด็ก ๆ พ่อแม่พาไปเรียนว่ายน้ำแต่ร้องไห้ไม่ยอมลงน้ำ ปัจจุบันจึงเป็นปัญหาหลักในการที่จะทำความฝันให้เป็นความจริง นั่นคือการแข่งขันไตรกีฬาเป็นการแข่งกีฬาทั้งสามประเภทติดต่อกัน ซึ่งประกอบด้วย ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง อีกทั้งยังมีประเภทกีฬาชนิดที่ใกล้เคียงกันซึ่งแข่งเพียงแค่สองประเภทสลับกันและต่อเนื่องกันเรียกว่า Duathlon คือ วิ่ง-ปั่น-วิ่ง เป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับนักกีฬาที่ว่ายน้ำไม่เป็น สำหรับผมแล้ว Duathlon ไม่ได้อยู่ในสารบบแต่อย่างใด เพราะการวิ่งและปั่นจักรยานเป็นการออกกำลังกายในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่ไตรกีฬาคือความท้าทายใหม่ที่ยังไม่เคยได้สัมผัส และความฝันขึ้นสูงสุดใกล้เข้ามาทุกขณะ

ในเวลาเพียงยี่สิบวันก่อนการแข่งขัน มีความจำเป็นต้องซ้อมว่ายน้ำทุกวันเพื่อความเคยชิน ว่ายน้ำให้บ่อยเข้าไว้ เก็บชั่วโมงบินให้เยอะเพื่อลดความประหม่าในการลงทะเลจริง ๆ  แต่ทว่า ยี่สิบวันผ่านไป เวลาว่ายน้ำไม่ได้เร็วขึ้นเลย กติกา IRONMAN 70.3 (ว่ายน้ำ 1.9 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 90 กิโลเมตร วิ่ง 21 กิโลเมตร) มี Cut-off time สำหรับการว่ายน้ำอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 10 นาที ในระยะทางว่ายน้ำ 1.9 กิโลเมตร ซึ่งมีความจำเป็นต้องว่ายด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 3.41 นาที ต่อ 100 เมตรโดยประมาณ และต้องไม่หลงทางเลยซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะในทะเลนั้นอุปสรรคสำคัญคือการมองเห็น

ผมได้รับคำแนะนำจากเพื่อนรุ่นพี่ที่เคยมีประสบการณ์การลงสนามไตรกีฬามาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความตื่นตระหนก (Panic) หรือการกระทบกระทั่งกันระหว่างนักแข่งด้วยกันเองในขณะที่ว่ายน้ำ ภาษาบ้านๆ เรียกว่า “ปลาตีน” โดยเฉพาะการว่ายหลงทิศซึ่งทำให้เสียเวลาเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีแมงกะพรุนซึ่งถ้าเกิดการสัมผัสขึ้นมาจะมีโอกาสสูงที่ทำให้นักไตรเกิดอาการแสบและบางรายถึงขนาดหายใจติดขัดต้องยุติการแข่งขัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพทะเล ภูมิอากาศ โดยทั่วไปหลังฝนตก น้ำจะขุ่นและแมงกะพรุนจะชุกชุม บางสนาม IRONMAN ในต่างประเทศ เคยมีเหตุการณ์ที่ฉลามเล่นน้ำใกล้กับบริเวณที่จัดการแข่งขันซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยมี ทางผู้จัดจึงเปลี่ยนแปลงลักษณะการแข่งขันเป็นการปั่นจักรยานและวิ่งแทน

ในเมื่อพูดถึงผู้มีประสบการณ์แล้วนั้น พี่เต่าเป็นอีกหนึ่งท่านที่มีบทบาทสำคัญในการเตรียมตัวเพื่อแข่งขันไตรกีฬาของผม เป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำ การเตรียมการ จัดแจงระหว่าง Transition อุปกรณ์ชนิดใดที่ต้องจัดแจงเป็นพิเศษ การว่ายน้ำในทะเลต้องมีเทคนิคพิเศษอะไรบ้าง โดยเฉพาะการว่ายข้างหลังนักแข่งข้างหน้าจะช่วยว่ายให้เร็วขึ้น เปรียบเสมือนการปั่นจักรยานข้างหลังผู้นำจะทำให้ปั่นสบายขึ้น ออกแรงน้อยลง มวลของน้ำก็เช่นกัน อย่างไรก็ดีหลักการที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนตัวแล้วยังไม่มีประสบการณ์ตรง ได้แต่รอการพิสูจน์ในสนามจริง

ภารกิจของผมคือการว่ายน้ำให้ผ่าน Cut-off time ถ้าไม่ผ่านนั้น แปลว่าทุกอย่างจบสิ้น ต้องออกจากการแข่งขันทันที จึงทำให้ผมไม่ได้ซ้อมวิ่งและปั่นจักรยานเลยแม้แต่น้อย ทำให้สภาพจิตใจไม่ปกติมีความวิตกกังวล กลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ

จนกระทั่งเหลือเวลาเพียงแค่สามวันสุดท้าย นายแพทย์ทั้งสองคือหมอใหญ่และหมอเอเดินทางมาจาก อ.สุไหงโก-ลก ด้วยรถยนต์ ผมจึงอาศัยฝากรถจักรยานเสือหมอบและอุปกรณ์ที่จำเป็น อาทิเช่น หมวก รองเท้า ฯลฯ ที่ยืมมาจากบิดาหรือโกตี่ ให้ติดรถมาด้วย ตัวผมเองนั่งเครื่องจาก กทม. ไปพักกับคุณหมอทั้งสองท่าน โดยมีพี่โกวิทย์ซึ่งเป็นเจ้าถิ่นมารับที่สนามบินพาไปทานข้าวและไปส่งที่โรงแรมที่คุณหมออาศัยอยู่

ในที่สุดการเดินทางครั้งสำคัญก็เริ่มต้นขึ้นเพราะตัวผมเอง คาดหวังที่จะพิชิตการแข่งขันให้ได้ ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสเดียวที่จะทำให้สำเร็จ จึงทำให้ผมทุ่มเททั้งหมดให้กับ IRONMAN 70.3 โดยมีเป้าหมายเดียวคือรูปหน้าเส้นชัย ความมุ่งมั่นสุดโต่งที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้หลายคนแนะนำผมว่า “เล่นกีฬาด้วยความสนุกสนาน อย่าไปตั้งเป้าหมายให้ตัวเองรู้สึกกดดันและเครียดกับสิ่งที่ทำ” ส่วนตัวผมเล่นกีฬาด้วยความสนุกสนานเสมอและแนะนำคนที่จะเริ่มออกกำลังกายอยู่ตลอดว่า ให้เล่นกีฬาด้วยความสุข ผ่อนคลาย ไม่ใช่เล่นกีฬาตามแฟชั่น และกีฬาเหล่านั้นจะอยู่กับเราตลอดไป

ก่อนแข่งขันหนึ่งวัน ผม หมอใหญ่และหมอเอ ต้องไปลงทะเบียนรับอุปกรณ์การแข่งขัน BIB ป้ายติดเสื้อ และต้องเอาจักรยานเข้าไปวางในจุด Transition ก่อนที่จะไปทดสอบเส้นทางว่ายน้ำที่กำหนดไว้สำหรับการแข่งขันในวันถัดไป หมอเอไม่เคยว่ายน้ำในทะเลในระยะทางไกลเช่นนี้และเป็นคนที่กลัวความมืดใต้น้ำ ส่วนหมอใหญ่เคยมีประสบการณ์การแข่งไตรกีฬาระยะโอลิมปิกที่หัวหินก่อนหน้านี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนตัวผมไม่มีอาการตื่นตระหนกแต่กังวลเรื่องว่ายไม่ทัน Cut-off time และกลัวที่จะว่ายน้ำหลงทิศ รวมไปถึงประสบการณ์ปลาตีนที่ต้องลงว่ายพร้อมกันหลายๆ คนกับผู้ร่วมแข่งขันท่านอื่น อีกทั้งเรื่องการใส่คอนแทคเลนส์ที่จุด Transition หลังจากขึ้นจากน้ำอีกด้วย ต้องเตรียมน้ำเปล่าสำหรับล้างมือให้สะอาดจากน้ำทะเลเพื่อใส่คอนแทคเลนส์ ส่วนแว่นตาว่ายน้ำก็ต้องใช้แว่นสายตาสั้น เมื่อหลายๆ อย่างรวมกันทำให้ดูไม่ง่ายเลย คืนก่อนการแข่งขันเราทั้งสามคนระวังในเรื่องอาหารการกินเป็นอย่างมาก เพราะการเตรียมการมาหลายเดือนที่ผ่านมานั้น จะปล่อยให้พลาดในวันสุดท้ายไม่ได้

และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น หมอเอไข้ขึ้นสูงและตื่นมาตีสองเพื่อรับประทานยาลดไข้พร้อมโหลดคาโบไฮเดรต ผมและหมอใหญ่ตื่นตีสี่เพื่อจัดการเรื่องถ่ายลำไส้ไม่ให้มีปัญหาระหว่างการแข่งขัน การแข่งขันเริ่มเวลาหกโมงเช้าแต่นักกีฬาสามารถเข้าไปจุด Transition เพื่อจัดแจงอุปกรณ์ที่สำคัญให้พร้อม โดยเฉพาะการเช็คลมยางจักรยาน ปกติการวางจักรยานข้ามคืนในที่โล่งแจ้ง นักกีฬานิยมปล่อยลมยางให้อ่อนเพื่อไม่ให้เกิดแรงดันซึ่งเป็นเหตุทำให้ยางแตกได้ เราสามคนได้เข้าไปเตรียมตัวที่จุด Transition หมอเอยังมีไข้อ่อนๆ จึงเข้าไปปรึกษาเจ้าหน้าที่สนามและได้รับคำแนะนำให้ไปรับหมวกว่ายน้ำสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ Special Aids หรือเรียกได้ว่าเป็นนักแข่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษระหว่างการว่ายน้ำ โดยทั่วไปสีของหมวกจะบ่อบอกถึงรุ่นอายุในแต่ละ Wave ที่จะปล่อยตัวลงว่ายน้ำ ในการสมัครทางอินเตอร์เน็ตจะมีช่องให้ใส่ช่วงเวลาที่คาดว่าจะว่ายน้ำถึงฝั่งภายใน 1.9 กิโลเมตร เป็นการจัดลำดับการปล่อยตัว ผู้เข้าแข่งขันที่ว่ายเร็วจะอยู่ด้านหน้าซึ่งไม่มีกระทบผลต่อการแข่งขันแต่อย่างใด เพราะ BIB ของแต่ละท่านจะมีการ Check Point สถิติส่วนตัวอยู่แล้ว

การแข่งขันก็ได้เริ่มขึ้น นักแข่งรุ่น Pro ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะปล่อยตัวไปก่อนตามด้วยผู้เข้าแข่งขันรุ่นอายุ ผมวิ่งลงน้ำ Wave แรกๆ เพราะคาดว่าถ้าลง Wave หลังๆ ผมอาจต้องขึ้นจากน้ำคนสุดท้าย ความรู้สึกในการว่ายในทะเลระหว่างการแข่งขันครั้งแรกนั้นวิเศษมาก ความตื่นตระหนกไม่มีแต่ความเหนื่อยล้ามาเต็มที่เพราะจ้วงสุดความสามารถ ท่วงท่าว่ายน้ำที่เคยฝึกมา เพราะต้องทำทุกวิถีทางให้หายใจให้ทัน มือจ้วงฟรีสไตล์ขาถีบท่ากบก็มา เพราะทุกวินาทีคือการเอาตัวรอด ระหว่างทาง 400 เมตรแรก

เหนื่อยแทบขาดใจแต่น้ำใสช่วยได้เยอะเพราะสามารถดูนาฬิกาได้อย่างชัดเจน สามารถคำนวนความเร็วได้รวมถึงประเมิณความเป็นไปได้ที่ผ่านด่านนี้มากน้อยเพียงใด  ข้อดีของน้ำใสคือสามารถดูทิศทางและว่ายตามนักแข่งใต้น้ำได้ ทำให้ไม่ต้องแหงนหน้าขึ้นมาดูทางบ่อยครั้ง ผมว่ายตามหลังคนนู้นบ้างคนนี้บ้าง เนื่องจากผมว่ายช้ามากทำให้ว่ายตามได้สองถึงสามสโตรกแล้วคนนั้นก็หายไป คนใหม่ก็มาแทนที่ จำได้ดีกว่าไม่ต่ำกว่าร้อยคนที่ผมว่ายตามหลังเขาไป ระยะทาง 400 เมตรแรก เวลาผ่านไป 13 นาที  พอผ่านไป 700 เมตร เวลารวมอยู่ที่ 29 นาที นึกคำนวนในใจ ดูเหมือนจะอยู่ในเวลาที่กำหนด พยายามว่ายตามเขาจนผ่านไป 1,800 เมตร เหลือเพียง 100 เมตรสุดท้าย ใช้เวลาไป 48 นาที ผมมั่นใจทันทีว่าไตรกีฬาครั้งแรกในชีวิตหรือ IRONMAN 70.3 สำหรับผมนั้น ผมได้พิชิตอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว เพราะห่างจาก Cut-Off Time อยู่ 20 นาที

                  ความรู้สึกหลังขึ้นจากน้ำก็ไม่ต่างจากการยกภูเขาทั้งลูกออกจากอก ผมเดินเข้าจุด Transition ค่อย ๆ ล้างน้ำทะเลจากมือให้สะอาดพอที่จะใส่คอนเทคเลนส์สายตาสั้นเพื่อใส่แว่นกันแดด ผมใช้เวลาที่ Transition ประมาณ 8นาที เพื่อกินกล้วยตากและขนมปังเพิ่มพลังแล้วจึงออกไปปั่นจักรยาน ระยะทางปั่นจักรยาน 90 กิโลเมตรเต็มไปด้วยรอยยิ้มบนใบหน้า วิวสวยสะดุดตาเพราะความสุขมาจากความรู้สึกโล่งในจิตใจ ระหว่างทางปั่นจักรยานบนเกาะภูเก็ตจากลากูน่ามุ่งหน้าไปกลับตัวที่สะพานสารสินมีจุดที่ต้องจอดจักรยานแบกขึ้นสะพานลอย

ในขณะที่อยู่บนสะพานลอยนั้น ผมได้มองลงไปเห็นพี่น็อตทีมมีแสงไบค์กำลังเข็นจักรยานอยู่ตีนสะพาน ต่างคนต่างดีใจที่ได้เจอกัน พี่น็อตตะโกนมาว่า “เดอะกุ่ย..รอดแล้วโว้ย” หลังจากนั้นก็ปั่นจักรยานตามทางไปเรื่อยๆ เห็นพี่เต่าปั่นสวนมาด้วยหน้าตาสงสัยว่าใช่ผมหรือไม่ เวลาผ่านไปเร็วมาก ระยะทาง 90 กิโลเมตร ใช้เวลา  3 ชั่วโมงโดยประมาณ เสร็จจากปั่นจักรยานก็เข้าจุด Transition เพื่อจะไปวิ่งต่ออีก 21 กิโลเมตร ดูนาฬิกายังมีเวลากว่า 4 ชั่วโมงก่อนจะถึงเวลา Cut-off time ที่สิ้นสุดระยะ ถ้าวิ่งไม่ไหวจริงๆ อาจจะเป็นไปได้ว่า ถ้าเดินตลอดทาง 21 กิโลเมตรก็คงจะทันเวลา

หลังจากเปลี่ยนรองเท้าเสร็จจึงออกจากจุด Transition เพื่อที่จะวิ่ง ปรากฎว่าก้าวขาไม่ออกเพราะไม่ได้ฝึก Brick Training มาก่อน (การซ้อมการสลับเปลี่ยนชุดกล้ามเนื้อที่ใช้ในแต่ละกีฬาเพื่อฝึกให้ร่างกายเรียนรู้ที่จะปรับตัวได้เร็วในช่วงการเปลี่ยนชนิดกีฬา) การที่ผมไม่ได้ฝึกมานั้นเป็นเพราะผมเน้นว่ายน้ำให้ผ่านอย่างเดียว นอกนั้นก็ไปตายเอาดาบหน้า ตอนวิ่งทรมาณมากเพราะตระคริวขึ้นตามแนวกล้ามเนื้อขาสลับไปมา ยืดเส้นก็ไม่ได้เพราะการเปลี่ยนท่าทางก็ทำให้ตระคริวขึ้นเช่นกัน เส้นทางวิ่งจะวนเป็นรอบ รวมทั้งหมด 3 รอบตามแนวเส้นทางลากูน่า ผมเจอหมอใหญ่ซึ่งนำไปก่อนหลายกิโลเมตรจนกระทั่งวิ่งสวนมา หมอเอก็ใจสู้สุดๆ เนื่องจากลงแข่งทั้งๆ ที่มีไข้ต่ำๆ และก็ผ่านมาได้จนถึงระยะสุดท้าย ส่วนรอบสุดท้ายเจอพี่เต่าและพี่กฤษณ์ที่ดื่มน้ำร่วมสาบานกันว่าจะเข้าเส้นชัยพร้อมกันด้วยการเดินตลอด 21 กิโลเมตร ทันทีที่พี่เต่าเห็นผม แกก็ตะโกนขึ้นมาทันทีว่า “ไหนบอกว่าว่ายน้ำช้าไง!!! ทำไมขึ้นมาก่อน หลอกกันนี่หว่า” อย่างที่กล่าวมาข้างต้น พี่เต่าคือคนที่แนะนำผมเรื่องการว่ายน้ำและผมเองก็ไม่เคยว่ายทันเวลาแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งครั้งนี้ที่ว่ายน้ำทันเวลาก็อาจเป็นเพราะการว่ายน้ำในทะเลนั้น ตัวจะลอยมากกว่าปกติและการว่ายข้างหลังคนข้างหน้าจะทำให้ว่ายเร็วขึ้น

ความทรมาณระหว่างวิ่งเต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า เพลีย หมดแรง ฯลฯ และในที่สุดก็ถึงเส้นชัยที่หวังไว้ ความฝันที่เป็นจริงกับการพิชิต IRONMAN 70.3 ไตรกีฬาครั้งแรกในชีวิตด้วยเวลารวมทั้งสิ้น 6 ชั่วโมง 52 นาที (ว่ายน้ำ 1,900 เมตร ใช้เวลา 51 นาที 13 วินาที, ปั่นจักรยาน 90 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 59 นาที, วิ่ง 21 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 48 นาที) ใช้เวลาใน transition รวม 13 นาที อันดับในรุ่น 86 จาก 154 คน อันดับ Overall 708 จาก 1,188 คน

IRONMAN 70.3 THAILAND PHUKET มีผู้เข้าร่วมแข่งขันประมาณ 1300 คน ชาวต่างชาติเกือบพันคน ที่เหลือเป็นคนไทยซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับรายการอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าค่าสมัครราคาสูง (416 US dollar หรือ 14,965 บาท) อย่างไรก็ดีต้องขอขอบคุณผู้สนับสนุน วีรับเบอร์ คอร์ป และพี่เข้ ที่ดูแลค่าใช้จ่ายการเดินทาง อาหาร ที่อยู่อาศัยและค่าสมัคร ขอแสดงความยินดีกับหมอใหญ่ หมอเอ พี่น็อต พี่เต่า พี่กฤษณ์ ที่พิชิต IRONMAN 70.3 สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยกัน ขอขอบคุณแว่นตา Oakley จากคุณไอซ์ Luxottica Thailand และ Contact Lens จากคุณหญิงและคุณแว่น KT Optic ขอขอบคุณซุปเปอร์จิ๋ววันเพ็ญที่พาไปซื้อแว่นว่ายน้ำสายตาก่อนแข่งหนึ่งวัน ขอขอบคุณมิตรภาพล้อโตภูเก็ต พี่โกวิท พี่เดอะกุ๊กและทีมงาน FATBIKE ที่ดูแลเป็นอย่างดี ขอขอบคุณ ศาลายา ดีไซส์ สำหรับชุดไตรคุณภาพเพื่อการแข่งขัน และสุดท้ายขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเสมอมา

Loading Facebook Comments ...

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here