มากกว่า พิชิตยอดเขาโมโกจู

ในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ คือเอาชนะใจตัวเอง

การเรียนรู้ปัจจุบัน เพื่อรักษาอนาคต  

ป่า อนุรักษ์ ธรรมชาติ และการใช้ชีวิต

เรื่อง ปภาวดี สะนัย
ภาพ Kob Bike Finder  / Tonn Explorer / การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

           ยอดเขาโมโกจู เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และสูงที่สุดในผืนป่าตะวันตก เป็นยอดเขาที่นักนิยมการท่องเที่ยวแบบเดินป่า ปีนเขา ต้องการที่จะไปเยือนสักครั้ง ด้วยความสูง 1,964 เมตร สูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศ สำหรับใครที่อยากเดินทางมาที่นี่ สามารถค้นหาข้อมูลได้จาก เว็บไซต์ สำนักงาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช

          คำว่า “โมโกจู” เป็นภาษากระเหรี่ยง แปลว่า “เหมือนฝนจะตก” เนื่องจากบนยอดเขามักถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกและมีอากาศหนาวเย็นตลอดเวลา สำหรับใครที่อยากเข้ามาพิชิตในเส้นทางนี้ ยอดเขาโมโกจู สามารถติดต่อได้โดยตรง

ก่อนการเดินทางควรเตรียมความพร้อมสร้างเสริมสมรรถภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ส่วนอุปกรณ์ที่สำคัญในการเดินป่าก็มี “เต็นท์ ถุงนอน ขวดกรองน้ำ รองเท้าสำหรับเดินป่า อุปกรณ์จำเป็นสำหรับเดินป่า รวมถึงยารักษาโรค ยาประจำตัว” ในเรื่องของรองเท้าเดินป่า ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการเดินป่าครั้งนี้มีเส้นทางสมบุกสมบัน รองเท้าท่องเที่ยว อาจจะไม่เหมาะสม หากใครไม่มีแนะนำเป็นรองเท้าที่พื้นมีดอกยางลึกช่วยในเรื่องการยึดเกาะกันลื่นจะดีที่สุด รวมถึง ถุงเท้ายาว และ รองเท้าแตะ ไว้ใส่ตอนที่อยู่แคมป์เพื่อเป็นการพักเท้า เสื้อผ้าแนะนำเสื้อผ้าที่เบาระบายเหงื่อได้ดี และแห้งเร็วเสื้อกันลม เสื้อกันหนาวที่เหมาะสม ช่วยกันลมช่วยเก็บความร้อนในร่างกายได้ สามารถพับได้ขนาดเล็กช่วยประหยัดพื้นที่ในกระเป๋าให้หนักอึ้งกันอีกด้วย ไฟฉายแบบคาดหัว ยารักษาโรคประจำตัว หรือยาดม ยาหม่อง” ควรจะมีติดตัวไว้ตลอดเวลา สเปย์ฉีดกันแมลง ขนมขบเคี้ยว ช็อคโกแลต เครื่องดื่มเกลือแร่ กระดาษทิชชู่ทั้งแบบแห้งและแบบเปียก ถุงดำ ไว้สำหรับเก็บขยะที่เราใช้ในป่าออกมาทิ้งข้างนอกด้วย เสื้อกันฝน ถึงจะเป็นหน้าหนาว แต่สภาพอากาศก็ไม่แน่นอน เตรียมไว้เผื่อดีกว่า สำหรับการเดินทางครั้งนี้ถือว่าเป็นการเดินป่าที่ท้าทายที่สุดเป็นครั้งแรก ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะพบเจออะไร อุปสรรคจะยากแค่ไหน เราต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้

การเดินทางในครั้งนี้เราได้รับเกียรติจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เชิญเรามาร่วมพิสูจน์ใจในครั้งนี้ วันแรกเรามีนัดรวมพลกันตั้งแต่ 08.30 น.ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานใหญ่) เพื่อมุ่งหน้าไปยังอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง ในการเดินทางด้วยรถยนต์

เมื่อถึงที่ทำการอุทยานก็มีเจ้าหน้าที่รอตอนรับ และเข้าห้องประชุมรับรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในการเข้าฟังบรรยายก่อนพิชิตยอดเขาโมโกจู โดยผู้บรรยาย คือ หัวหน้าชุดหน่วยลาดตระเวน นายวีระ เอี่ยมสะอาด พร้อมเป็นผู้นำคณะสื่อมวลชนร่วมพิชิตเส้นทางยอดเขาโมโกจู ในครั้งนี้อีกด้วย สำหรับคำทักทายในประโยคแรกในห้องประชุม พี่วีระ เจ้าหน้าที่ผู้มี อารมณ์ขัน ทักทายในประโยคแรกที่ว่า “ยินดีต้อนรับเหยื่อทุกคน” เรียกเสียงหัวเราะจากคณะฯ กันก่อนจะเข้าสู่การบรรยายเรื่องการเตรียมความพร้อม การปฏิบัติตัวและข้อควรระวังในการเดินป่ากันอย่างจริงจัง หลังจากฟังบรรยายจบเรียบร้อย ทุกคนต่างก็แยกย้ายเข้าบ้านพัก พักผ่อนเอาแรงเตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อมสำหรับการเดินทางในวันรุ่งขึ้น

บรรยากาศยามเช้าที่เริ่มส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลง และทำให้การเดินทางในทริปนี้ เรียกว่า ไม่ธรรมดากันเสียแล้ว เพราะกลุ่มเมฆตั้งเค้าเป็นกลุ่มก้อน จับตัวกันให้พวกเราอ่อนไหวกันไปบ้าง พี่เจ้าหน้าที่ให้กำลังใจว่า ทริปนี้ถ้าฝนตกหนักตามคาดเดา คณะนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่จะเพิ่มความท้าทายในการเดินป่าพิชิตยอดเขาโมโกจู ที่ทรหดเพิ่มเข้าไปกว่าทุกๆ ทริปที่ผ่านมา เอาว้า…มาถึงขนาดนี้แล้ว ไม่ลุย ไม่รู้ ว่าความท้าทายเป็นอย่างไร และสิ่งสำคัญการที่ได้บุกป่า ฝ่าดงในเส้นทางทรหดเส้นนี้ กับกลุ่มผู้พิทักษ์ป่า ที่ต้องลาดตระเวนเดือนละ หลายๆ วันนั้น เขามีความยากลำบากกันอย่างไร แค่เราเดินไม่กี่วัน จะท้อแท้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วเช่นนั้นหรือเปล่า

เมื่อถึงเวลาต้องลุย…ก็ต้องลุย ฝนโปรยปรายไม่มีทีท่าว่าจะหยุดให้เราได้ชิลล์กันเลยตั้งแต่เริ่มออกสตาร์ท สำหรับวันแรกในการเดินป่า เริ่มจากแคมป์ แม่กระสา – แคมป์แม่เรวา – น้ำตกแม่รีวา ระยะทางจากแคมป์แม่กระสาถึงแคมป์แม่เรวา 4 กิโลเมตร เป็นทางเดินราบ มีเนินขึ้นลงบ้าง ตลอดทางพื้นดินยังชุ่มไปด้วยฝนที่ตกก่อนหน้า พอมาถึงลำธารแรกจะเจอไม้ไผ่สานมัดรวมกัน 4 – 5 ลำ ทำเป็นสะพานข้าม มีราวจับเพิ่มความแข็งแรงเข้าไปอีก เดินมาเรื่อย ๆ ก็ถึงแคมป์แม่เรวา ลักษณะของแคมป์เป็นลานโล่งติดกับลำธาร ทันทีที่มาถึงเจ้าหน้าที่ก็เดินหายเข้าป่าสักพักก็กลับออกมาพร้อมกับแบกไม้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงทำฟืนในการดำรงชีวิตและทำอาหาร ทำให้เรานึกเคลิ้มไปถึงเพลง “คนเก็บฟืน” ของ “คาราบาว” กันเลยทีเดียว เบื้องบน เป็นแผ่นฟ้ากว้างเบื้องล่าง เป็นธารน้ำใส ตัวฉันมีกระติกน้ำ (กา) หนึ่งใบ กับกองฟืนที่วางอยู่เรียงราย (บรรยากาศนี้ ใช่เลย) เราได้นั่งตั้งวงเสวนากับนักผจญภัยร่วมทริปให้หายเหนื่อยกันก่อนจะลุยไปสำรวจแหล่งน้ำกันที่ น้ำตกแม่รีวา ที่มีความสูง ถึง 5 ชั้น ระหว่างทางก็ยังมีฝนโปรยปรายให้ได้เปียกกันให้หัวใจชุ่มฉ่ำ พวกเราเริ่มคุ้นชินกับสายฝนระหว่างเดินป่ากันบ้างแล้ว ระยะทางเดินไป – กลับน้ำตกแม่รีวา ระยะทาง 6 กิโลเมตร ระหว่างทางยังคงมีลำธารที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ ที่น้ำใสและมีน้ำไหลผ่าน และมีสะพานไม่ไผ่ ที่พี่ ๆ เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกไว้ให้ข้ามได้อย่างสบาย

เดินต่อมาอีกเรื่อยๆ จะได้ยินเสียงน้ำที่ไหลจากที่สูง เป็นสัญญาณว่าเราเข้าใกล้น้ำตกแม่รีวาแล้ว แต่ยิ่งเข้าใกล้ ทางที่เดินค่อยข้างจะลื่นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ก็มาถึงจุดชื่นชมน้ำตกแม่รีวา ภาพที่เห็นข้างหน้าเป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสูงมาก เนื่องจากฤดูกาลนี้สามารถเห็นเพียงแค่ 3 ชั้น แต่ก็ยังคงความงดงามของธรรมชาติ ที่สร้างฉากสวย ๆ แบบนี้ขึ้นมา

หลังจากชื่นชมความงามและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันเรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาเดินกลับแคมป์แม่เรวา ขากลับเร็วกว่าขาไปเสมอ เมื่อเดินกลับมาถึงแคมป์แม่เรวา เต็นท์ของพวกเราถูกกางเรียบร้อยด้วยฝีมือของพี่ ๆ ลูกหาบ ถัดมาก็จะมีแคมป์กองไฟ ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ร่วมทริปกำลังร่วมด้วยช่วยกันทำหน้าที่เป็นเชฟสำหรับมื้อค่ำของวันนี้  เนื่องจากตัวเปียกมาทั้งวันก็ได้เวลาในการอาบน้ำ การอาบน้ำเราจะใช้น้ำจากลำธารข้างแคมป์ น้ำใสและเย็นสดชื่นสุด ๆ การได้แช่น้ำเย็นๆ ยังช่วยลดการปวดเมื่อยให้ทุเลาลงได้จริง ๆ แต่แช่นานไปก็อาจจะทำให้ไม่สบายได้  สำหรับใครที่อาบน้ำในห้องน้ำ กฎกติกาที่เราใช้กันในหมู่คณะใครใช้น้ำในห้องน้ำต้องตักน้ำมาคืนให้เต็มเพื่อทุกคนจะได้ไม่มากังวลตอนใช้น้ำกันกลางดึกอีกด้วย ในกลางป่า ในช่วงเวลาเย็นย่ำ กลับมีความมืดปกคลุมพื้นที่กันเร็วกว่านอกพื้นที่ป่า แสงสว่างที่ได้มีเพียงกองไฟและไฟฉายขนาดเล็กติดตัวของแต่ละคนตลอดเวลา เมื่อถึงเวลาอาหารเย็นที่ทุกคนรอคอย ต่างนั่งล้อมวงร่วมทานมื้อเย็น กันในป่าเป็นมื้อแรก ไม่ว่าเมนูไหนที่เจ้าหน้าที่บรรจงเสิร์ฟมาชาวคณะฯ ทานได้หมด เรียกว่าเห็นบุญคุณของข้าวปลาอาหาร ที่เราต้องวางแผนการกินอยู่กันอย่างพอเพียงและให้อิ่มกันตลอดทั้งทริป กินเสร็จต่างพากันแยกย้ายเข้านอน เก็บแรงเตรียมลุยต่อในวันพรุ่งนี้

 

          รุ่งเช้าของวันที่ 2 อากาศเป็นใจให้พวกเราได้เย็นสบายตั้งแต่เริ่มเดินทาง ถึงแม้ยังครึ้มฟ้าครึ้มฝน ไม่มีแดด แต่พวกเรายังเฝ้าระวัง ว่าฝนจะตกมาอีกหรือไม่ ทุกคนจึงต้องเตรียมเสื้อกันฝนไว้ก่อน การเดินทางวันนี้ จะเดินจากแคมป์แม่เรวา และค้างคืนที่แคมป์ คลอง 2 ระยะทาง 8 กิโลเมตร หลังจากกินมื้อเช้ากันเรียบร้อยทุกคนต่างช่วยกันเก็บของ ไม่ว่าจะเป็นทางคณะเดินทาง พี่ๆ ลูกหาบก็เก็บของลงเตรียมแบก เจ้าหน้าที่ดับกองไฟก่อนออกเดินทาง เส้นทางเดินจะเป็นการเดินขึ้นเขา และมีบางจุดที่ต้องเดินตามไหล่เขาที่มีความสูงชัน และมีความกดอากาศค่อนข้างต่ำ ทำให้เราจะต้องมีหยุดหอบกันบ้าง

          เมื่อเดินทางมาถึงจุดเติมน้ำจุดแรก ที่คลอง 1 สภาพเป็นพื้นที่ชื้นพี่เจ้าหน้าที่แนะนำว่าไม่ควรอยู่ใกล้ต้นไม้ และไม่ควรยืนแช่นานเพราะมันเป็นที่อยู่อาศัยของทาก รวมถึงสัตว์ป่าที่รอเหยื่ออยู่ เมื่อเติมน้ำเสร็จให้รีบออกจากพื้นที่ สำหรับการเติมน้ำ ถ้าใครมีที่กระติกกรองน้ำก็ถือว่าสะดวกกว่าสำหรับคนที่กลัวเรื่องเชื้อแบคทีเรียในน้ำ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า ตั้งแต่ที่ดื่มน้ำมาก็ยังไม่เจอเคสอะไรหนักหนาสาหัส ส่วนตัวเองเมื่อสภาวะที่ต้องเผชิญไม่มีขวดกรองน้ำ แต่ก็ใช้ขวดน้ำเปล่ากรองใช้ดื่มตลอดทางก็ไม่มีปัญหาใดๆ

          ถึงแคมป์คลอง 2 เป็นเวลาเกือบเย็นแล้ว สภาพอากาศ มีหมอกปกคลุม และยังมีฝนตกโปรยปรายเพิ่มความหนาวเย็นเข้าไปอีก เจ้าหน้าที่บอกว่าเดินทางอีกประมาณ  1 ชั่วโมงครึ่ง ก็จะถึงยอดเขาโมโกจูแล้ว ระหว่างทางเจอทัศนวิสัยไม่ค่อยดีนัก มองไปรอบตัวมีแต่หมอก และยังต้องต่อสู้กับอากาศเย็นลง บวกกับเส้นทางที่ท้าทายต้องโหนเชือกในการไต่ขึ้นเขา แต่เพื่อเป้าหมายข้างหน้า เราต้องไปให้ถึงจุดหมาย ถึงแม้สภาพอากาศยังปิดอยู่ตลอดเส้นทางก็ตาม เมื่อถึงเนิน 1,200 คือ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ทางเจ้าหน้าที่ได้ชี้ให้ดูจุดพิชิตยอดเขาโมโกจู ตรงข้างหน้า โดยในอากาศที่ไม่ปิด จะเห็นเป้าหมายได้ชัดมาก และเป็นเหมือนจุดเสริมกำลังใจให้กับผู้พิชิต ซึ่งครั้งนี้เจ้าหน้าที่ยังบอกว่าถ้าตรงจุดนี้มองไม่เห็น สันนิษฐานเลยว่าถ้าเราไปถึงจุดแคมป์คลองสองแล้ว ฟ้าไม่เปิด การที่จะเดินขึ้นเขาต่อ จะอันตรายมาก ทำให้การไปดูพระอาทิตย์ตกต้องยกเลิกไป ทีมลูกหาบที่เดินมาถึงก่อนแล้วกางเต็นท์ก่อกองไฟเรียบร้อย และกำลังประกอบอาหารเป็นมื้อเย็นของวันนี้ เช่นเคย ทั้งเจ้าหน้าที่ ลูกหาบ และผู้ร่วมทริปช่วยกันทำอาหาร เป็นอาหารแห้ง ง่ายๆ  ระหว่างรอก็สำรวจตัวเองว่ามีทากเกาะมาด้วยหรือเปล่า และล้อมวงรอบกองไฟเพื่อสร้างความอบอุ่น และสถานการณ์นี้ ทุกคนลงความเห็นว่าอากาศเย็นมาก จึงพร้อมใจกันซักแห้งใช้ผ้าเย็นเช็ดตัวกันแทนการอาบน้ำ หลังทานมื้อเย็นเสร็จแล้วก็ได้เวลาพักผ่อน สภาพอากาศคืนนี้เริ่มเย็นลงเรื่อยๆ จนช่วงดึกจนถึงเช้า มีฝนตกหนักตลอดทั้งคืน ความคาดหวังที่จะเดินขึ้นพิชิตยอดเขาโมโกจู ที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมอาจมีหวังริบรี่แน่ๆ

          เช้าวันที่ 3 สภาพอากาศยังปิดอยู่ มีหมอกปกคลุมทั่วบริเวณ และยังมีฝนตกลงมาเป็นระยะ ท้ายสุดได้รับฟังคำประกาศจากหัวหน้าทีมชุดฯ พี่วีระ เอี่ยมสะอาด ว่าต้องยุติการเดินขึ้นสู่ยอดเขา เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายและไม่อยากให้ทุกคนไปเสี่ยง สื่อมวลชน ผู้ร่วมทริปทุกคน ต่างเสียดายไปตามๆ กัน แต่ทั้งนี้ พวกเราเห็นด้วยและเชื่อฟังเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามเพื่อความปลอดภัย  แต่ถึงจะไม่ได้ขึ้นจุดสูงสุดตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่การมาถึงจุดนี้ก็เป็นการเอาชนะขีดความสามารถของตัวเราเอง เอาชนะใจตัวเอง และรู้จักการเรียนรู้เข้ากับธรรมชาติ สิ่งที่สะท้อนถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ การอยู่กับธรรมชาติอย่างไรให้ธรรมชาติยั่งยืนนั่นคือหัวใจสำคัญที่สุด

          หลังจากที่ตกลงกันเรียบร้อยก็ได้เวลากินข้าวเช้าและเก็บสัมภาระเตรียมตัวเดินกลับ ระยะทางขากลับจะเป็นการลงเดินลงเขาซะส่วนใหญ่ สภาพพื้นดินลื่นและชัน ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก มีเจ้าหน้าที่แนะนำว่า จะเดินตะแคงข้างลงจะช่วยลดการลื่น และเพิ่มแรงยึดเกาะได้ดี และไม้ค้ำเป็นอีกตัวช่วยในการยึดเกาะได้ดีอีกด้วย ระยะทางการเดินของวันนี้ ต้องเดิน 12 กิโลเมตรเพื่อกลับไปพักค้างคืนที่แคมป์แม่กระสา เป็นการเดินที่ไกลมาก แต่ด้วยขาลงทำให้การเดินเร็วกว่าขาขึ้น และได้พักกินข้าวเที่ยงที่ระหว่างทางแคมป์แม่เรวา และเดินต่อจนถึงแคมป์แม่กระสา ก็เป็นเวลาเกือบจะเย็นแล้ว กองไฟถูกจุดขึ้นอีกครั้ง เต็นท์ถูกกางเรียงกัน และในศาลาก็มีเจ้าหน้าที่และคนในทริปร่วมกันเป็นเชฟ ปรุงอาหารเย็นของวันนี้ ถึงแม้ความมุ่งมั่นจะไม่ได้ถึงเป้าหมายอย่างที่ตั้งใจไว้ เราก็ยังได้มิตรภาพที่ได้ร่วมพิชิตเส้นทางนี้ร่วมกัน พร้อมยังได้เห็นความตั้งใจและมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า รวมถึงลูกหาบที่ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้ผู้ร่วมทริปได้พิชิตเส้นทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัยที่สุด

จุดแคมป์แม่กระสา มีศาลา 3 หลัง มีลานกลางเต็นท์ มีห้องน้ำ ข้างแคมป์แม่กระสาก็จะเป็นลำธาร หรือเรียก คลองแม่กระสา เป็นที่อาบน้ำ ใช้น้ำ ของแคมป์ หลังจากที่ทำธุระส่วนตัวเรียบร้อย อาหารเย็นก็เสร็จเรียบร้อยและถูกยกมาวางบนผ้าใบ ได้เวลาล้อมวงกินข้าวเย็นแล้ว

ด้วยบรรยากาศเย็นสบายในป่า ความเงียบทำให้ได้ยินเสียงน้ำในลำธารชัดเจนขึ้น ความมืดปกคลุมมีเพียงไฟฉายและกองไฟที่ทำหน้าที่ให้แสงสว่างทำให้สามารถเห็นดาวฟ้าได้ เป็นความทรงจำที่พิเศษและหาจากเมืองหลวงไม่ได้ ทำให้เรานึกถึงเพลงนี้อีกครั้ง ชีวิตสัมพันธ์ ของคาราบาว ให้ระลึกถึงห่วงโซ่ธรรมชาติ หากไม่มีป่า ไม่มีน้ำ ก็จะมีไม่อากาศและไม่มีธรรมชาติให้ทุกชีวิตดำรงอยู่ได้ รวมถึงคำสอนของในหลวง ร. ๙ ที่ทรงสอนลูกของพระองค์ท่านทุกคนให้รู้จักความพอเพียง ความเพียร และการปลูกป่าในใจตน และในใจคน ถ้าเรารู้จักคุณค่าของทุกชีวิต รู้จักพอ รู้จักให้ รู้จักแบ่งปัน และร่วมกันสามัคคีช่วยกัน ประเทศไทยเราก็อยู่อย่างสงบสุขอย่างยั่งยืน เราไม่สามารถอยู่เหนือธรรมชาติได้ เราต้องใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติ เหมือนการเดินทางทริปพิชิตยอดเขาโมโกจู ทริปนี้ก็เช่นกัน

คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายที่จะได้ร่วมวงสนทนา บอกเล่า แชร์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนเดินป่า แต่ละคนประสบหรือพบเจออะไรระหว่างทางบ้าง ต้องล้มลุกคลุกคลานแค่ไหนกว่าเดินมาถึงจุดนี้ สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มก่อนนอนได้เป็นอย่างดี

เช้าวันที่ 4 เดินทางจาก แคมป์แม่กระสา ระยะทาง 16 กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ แทบจะหมดพลังกันเลย การเดินทางในครั้งนี้ทำให้ได้เห็น และรับรู้ถึงการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ว่าจะต้องเดินเท้าเพื่อสำรวจและคอยดูแลปกป้องผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ และขอขอบคุณผู้ร่วมทริปทุกท่าน เจ้าหน้าที่และทีมลูกหาบทุกคนที่คอยดูแลเป็นอย่างดีทำให้ทริปนี้เป็นทริปที่มีสีสันต์ และสนุกอีกทริปหนึ่งและต้องขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ให้การสนับสนุนการท่องเที่ยวในครั้งนี้

          และสิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้ สำหรับนักเดินทางที่เข้ามาเที่ยวหรือมาพิชิตในเส้นทางท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หรือทุกอุทยานฯ อยากให้ย้ำเตือนอยู่เสมอคือ การนำขยะกลับบ้าน ไม่ทิ้งขยะในพื้นที่ป่าและการลดการใช้ถุงพลาสติกให้น้อยที่สุดเพื่อป้องกันผลกระทบกับสัตว์ป่าที่กินขยะเข้าไป ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวทุกท่านให้เห็นความสำคัญและสร้างจิตสำนึกที่ดีเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ป่า อนุรักษ์ต้นน้ำ อนุรักษ์สัตว์ป่า และร่วมกัน ลด โลก เลอะ ไปด้วยกัน

นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย หมายเลขโทรศัพท์ 055-616-228-9

และสามารถติดตามการเดินทาง…พิชิตฝัน กับเส้นทาง…สุดท้าทาย ในเป้าหมายที่ไม่ธรรมดา #ทริปในฝัน Destination ของเหล่านักเดินทาง ใช่ว่า #คุณ จะได้ไปได้ง่ายๆ
ด้วยความสูง 1,964 เมตร จากระดับน้ำทะเล ติดตามเส้นทางการเดินทาง ของพวกเรา กับการพิชิต…#หินเรือใบ ใน #ยอดเขาเหมือนฝนจะตก ที่ชาวกะเหรี่ยงเขาว่ากันไว้ …จะเป็นอย่างไร จะพิชิตได้หรือไม่ ติดตามการเดินทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ทั้งในและต่างประเทศ www.ride-explorer.com  ห้ามพลาด!

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ : โทรศัพท์ : 055 766 027
โซนกำแพงเพชร : 090 579 291 (ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์)
โซนนครสวรรค์ : 098 797 3197 (หน่วยแม่เรวา)
อีเมล : maewong_np@hotmail.com

Loading Facebook Comments ...

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here