สัญญานรัก ปั่นจักรยาน

เปิดเรื่องราวร้อยเก้าปี สถานีรถไฟแม่พวก


ผมได้รับโทรศัพท์จากพี่สาวและพี่ชายวงการปั่นจักรยานที่เคารพชวนไปเที่ยวจังหวัดแพร่ ซึ่งแน่นอนพลาดไม่ได้ เพราะเป็นจังหวัดที่ตั้งแต่เกิดมา ผมยังไม่เคยได้ไปสักที นี่ก็เป็นอีกโอกาสที่ต้องเติมเต็มความฝันที่ว่าก่อนตายต้องไปให้ครบ 77 จังหวัด ทั่วฟ้าเมืองไทย ไม่จำเป็นต้องทุกอำเภอก็ได้ ขอแค่เพียงได้ไปเหยียบแผ่นดินเกิดในทุกๆ พื้นที่ เพื่อที่จะได้เห็นและเรียนรู้ซึมซับวัฒนธรรมที่งดงามในแบบที่แตกต่างกันไป กับผู้คนหลากหลายเชื้อสายวัฒนธรรม ผสมผสานความเป็นหนึ่งในความเป็นไทย ในทั่วประเทศ

การเดินทางที่แสนวิเศษเริ่มต้นที่รถไฟสายเหนือจากหัวลำโพงถึง อ.เด่นชัย รถไฟออกตอนค่ำและถึงตอนเช้าตรู่ก่อนฟ้าสาง ความตื่นเต้นปนตระหนกก็เริ่มต้นด้วยการนั่งวิน มอเตอร์ไซค์จากบ้านแถวพระรามเก้า เพื่อมาลงที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ด้วยเย็นวันศุกร์เป็นวันที่มหกรรมรถบนท้องถนนมากมายเป็นพิเศษ ทำให้ผมและพี่วินมาถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง ก่อนรถไฟออกเพียงแค่ 3 นาที สถานการณ์หวุดหวิดตั้งแต่เริ่มทริปกันเลย อย่างไรก็ดี สมาชิกทั้ง 3 ท่าน ไม่ว่าจะเป็นพี่กบ พี่โอ พี่โจ๊ก ต่างรอรับอย่างใจจดใจจ่อ เชื่อว่าลุ้นระทึกไม่ต่างกัน กลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เพราะผมตกเครื่องบินบ่อยมาก พอถึงโบกี้ตู้นอนที่ทางเราได้จองล่วงหน้ากับทางการรถไฟแล้ว เห็นหน้าตาคนรอดูท่าจะเหนื่อยกว่าคนเดินทางมาอีกเสียด้วยซ้ำ แต่ละคนหน้าเหมือนจะป่วยๆ หายใจไม่ทั่วท้อง ลุ้นกันเหงื่อไหลไปด้วยกัน ท้ายสุดก็เริ่มต้นทริปการเดินทางอย่างโล่งใจ

เมื่อขบวนรถไฟเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากชานชะลาที่ 7  ผมก็เริ่มตั้งวงพูดคุยถึงเรื่องราวความสนุกสนานที่ตั้งใจเดินทางมาทริปนี้ เพราะเป็นครั้งแรกที่เราได้มีโอกาสได้เดินทางขึ้นรถไฟมาเที่ยวด้วยกัน เม้าท์กันพอสนุกก่อนจะแยกย้ายเข้านอน ผมนอนชั้นบนในรถไฟตู้นอนแอร์เตียงสองชั้น หลับสบายมากๆ ถือว่าเป็นการเดินทางที่ประหยัดเวลาในการหลับได้เป็นอย่างดีเมื่อเทียบกับเครื่องบิน ที่สำคัญถ้าได้เดินทางไปท่องเที่ยวนั้น ชาว back packer จะใช้วิธีนี้เสมอ คือสามารถประหยัดค่าโรงแรมไปหนึ่งคืน ส่วนผมเชื่อว่าเป็นการประหยัดเวลาได้ดีทีเดียวสำหรับการมาเที่ยวแพร่ครั้งนี้

เมื่อถึงประมาณตี 5 รถไฟจอดเทียบที่สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ ถึงแม้ฟ้ายังมืดอยู่แต่ตลาดเช้าที่อยู่ใกล้ๆ สถานีรถไฟก็ขายของกันแล้ว ระหว่างรอ ผู้ใหญ่น้อย ผู้ใหญ่บ้านแม่พวกมารับนั้น เราทั้ง 4 คนก็ได้ไปสำรวจตลาดเช้าและจบร้านสภากาแฟของตลาด ด้วยน้ำชา กาแฟ ไข่ลวก ข้าวเหนียวหมูปิ้ง เมื่อผู้ใหญ่น้อยเดินทางมาถึง เราก็มุ่งหน้าต่อไปที่จุดหมายคือ สถานีรถไฟแม่พวก ความพิเศษของสถานีรถไฟแห่งนี้ เริ่มก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างในรูปแบบอาคารไม้สองชั้น มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2444 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเสด็จประพาสสถานีรถไฟสายเหนือ พระองค์ได้เสด็จจากเมืองอุตรดิตถ์ถึงสถานีแม่พวกและทอดพระเนตรชมทัศนียภาพ รวมถึงป่าสักโบราณแล้วจึงเสด็จกลับ สถานีรถไฟแห่งนี้ยังได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นปี 2559 จาก สมาคมสถาปนิกสยามฯ อีกด้วย

ความพิเศษในทริปนี้ ถือว่าเป็นความโชคดีอีกเรื่อง คือทางผู้ใหญ่น้อย ได้เลือกให้กลุ่มเราและคณะอาจารย์สถาปัตยกรรม จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้มีโอกาสได้พักในสถานีรถไฟแม่พวก ที่มีประวัติเรื่องราวยาวนานกว่า 109 ปี ถือเป็นการเปิดปฐมฤกษ์การสร้างจุดแลนด์มาร์กสัญลักษณ์สำคัญในการเปิดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านแม่พวกอีกด้วย   และเป็นโอกาสอันดีที่ผมจะได้นอนบนสถานีรถไฟเป็นครั้งแรกในชีวิต ในห้องชั้นสองซึ่งเป็นห้องทำงานของนายสถานี และปัจจุบันสถานีรถไฟแม่พวกไม่ได้ใช้งานแล้ว เป็นค่ำคืนการนอนที่มีความคลาสสิคเป็นอย่างมาก เปิดหน้าต่างมาเจอหลังคาสถานีและได้ฟังเสียงรถผ่านตามเวลา โดยมีหน้าต่างบานหนึ่งนั้น มีวิวระดับแสนล้านรออยู่ คือ ป่าไม้สักโบราณแห่งแรกในประเทศไทยที่ยังอุดมสมบูรณ์อย่างเต็มรูปแบบโดยมีชาวบ้านร่วมด้วยช่วยกันดูแลรักษาด้วยความหวงแหนและเป็นหูเป็นตาไม่ให้ใครเข้ามาทำลายป่าโบราณแห่งนี้

ภารกิจของผมกับทีม  Ride Explorer คือการปั่นจักรยานสำรวจป่าสักเพื่อออกแบบเส้นทางให้นักปั่นที่มาเยี่ยมชมได้มีโอกาสเข้ามาลิ้มลองความสนุกสนานบนเส้นทางในพื้นที่แห่งนี้ ดูจากลักษณะทัศนียภาพเบื้องต้นคาดว่าปั่นสนุกแน่นอน แล้วก็ไม่ผิดหวัง เส้นทางเดินเท้าของชาวบ้านเต็มไปด้วยใบไม้สักที่ผลัดใบหล่นมาปกคลุมเส้นทางและรากไม้ แถมด้วยเนินขึ้นและลงสลับกันไปมาใช้เกียร์ครบกันเลยทีเดียว สามารถปั่นจากเขาอีกลูกไปสู่อีกลูก มองเห็นวิวรอบด้านอย่างชัดเจน

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ชุมชนแม่พวก มีกิจกรรมสำคัญคือการจัดงานเฉลิมฉลองที่ สถานีรถไฟแม่พวก ได้รับรางวัลอาคาอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น จาก สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ประจำปี 2559  สถานีรถไฟแม่พวก จังหวัดแพร่ ถือเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของไทย โดยได้รับการดูแลจากเครือข่ายฮอมผญาฮักษา และชุมชนบ้านแม่พวกเป็นอย่างดี

 นอกจากนั้นบรรยากาศในงาน ยังรวบรวมเอาของดีในชุมชนออกมาเผยแพร่ให้กับนักท่องเที่ยว ได้ชื่นชม อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากไม้สักในป่าโบราณ ถือเป็นของดีในชุมชนนำมาประยุกต์อย่างมีเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดหน้า และผลิตภัณฑ์มัดย้อมผมเลือกอุดหนุนผ้าคลุมไหล่ เนื้อนุ่ม คุณภาพดีมากมาเป็นของฝาก  ในงานยังมีอาหารประจำพื้นถิ่นที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็น ไข่ป่าม หลามบอง ขนมจีนน้ำเงี้ยว รวมถึงประเพณีการแข่งทำหลามบองให้ได้เห็นอีกด้วย

บรรยากาศภายในงานครึกครื้น ลูกบ้านในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นลุง ป้า น้า อา ต่างให้ความสนใจและให้ความร่วมมือในการมาช่วยเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง โดยทางชุมชมได้รับเกียรติจากทางรองผู้ว่าฯ จังหวัดแพร่ มาร่วมเปิดพิธีและร่วมทำพิธีบวชป่า ซึ่งผมก็สงสัยตั้งแต่วันที่มาถึงแล้วว่าทำไมต้นไม้สักถึงได้มีจีวรพระพันรอบต้นไม้ ชาวไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นทุนอยู่แล้ว และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ป่าสักยังคงจำนวน 1,779 ต้น จากที่ชาวบ้านในชุมชนได้ร่วมกันปลูกมากว่าร้อยปีในพื้นที่ 133 ไร่ ก็ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์โดยไม่ได้ลดจำนวนลงเลยแม้แต่น้อย ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่หวงแหนเป็นอย่างมาก ร่วมด้วยช่วยกันดูแลรักษาผืนป่าแห่งนี้ให้คงสภาพงดงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ให้ร่มเงาแก่ผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมเป็นอย่างดี

และครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสปั่นจักรยานสำรวจป่าหลายรอบ ในหลากหลายพื้นที่ทั้งในเส้นทางป่าและรอบพื้นที่ป่า ที่ได้ปั่นหลายรอบไม่ใช่อะไร ตัดสินใจต้องปั่นไปอีกรอบ รอบแล้วรอบเล่า ด้วยเส้นทางที่ท้าทายเหนื่อยแต่สนุกดี เพราะพื้นที่นี้มีเรื่องราว Story มากมายให้ได้เล่าถึง

หลังจากได้ปั่นจักรยานเสร็จเรียบร้อย ผมและพี่กบ พี่โอ พี่โจ๊ก ก็ได้สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์สิงห์และอาจารย์แป่ง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เกี่ยวกับแนวทางการรักษารากเหง้าของชุมชนให้ยั่งยืนอย่างไร โดยให้รักษาวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมดั้งเดิมในพื้นถิ่นที่มีอยู่ พร้อมการต่อยอดเรื่องราวหลากหลายรวมไปถึงป่าสักแห่งแรกในประเทศไทยเสริมกับเส้นทางปั่นจักรยานไปเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนในแต่ละพื้นที่ในละแวกใกล้เคียงซึ่งน่าสนใจไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

ถึงปัจจุบันสถานีรถไฟแม่พวก จะเป็นเพียงสถานีหยุดรถไฟ แต่เรื่องราวที่น่าประทับใจมากมายยังส่งต่อเรื่องราวให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาศึกษา เรียนรู้ รวมถึงท่องเที่ยวมากขึ้น และสถานีรถไฟแม่พวกเป็นสถานที่สำคัญในการใช้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมของชุมชนและแหล่งเรียนรู้อีกด้วย ทั้งนี้โดยทางชุมชนได้เตรียมไกด์เยาวชนอาสาของหมู่บ้าน นำนักท่องเที่ยว ชมป่าสักและบอกเล่าเรื่องราวอดีตย้อนหลังมกมายในพื้นที่เดียวกันอีกด้วย ส่วนเพื่อนๆ ท่านใดสนใจเส้นทางปั่นจักรยานก็สามารถสอบถามเส้นทางได้กับผู้ใหญ่น้อย และกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านแม่พวกได้เลย

 ขอให้เที่ยวด้วยความสนุกโดยทั่วกันครับ ——เดอะกุ่ย

 

Loading Facebook Comments ...

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here