สัมผัสวิถี สัมผัสชีวิต “เที่ยวไป วิ่งไป Like a Local”

ที่ภูซาง พะเยา

วันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ได้ผ่านพ้นไป ตามด้วยเสียงหัวใจกับ “เที่ยวไป วิ่งไป Like a Local” อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา นับเป็นงานวิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวิถีชีวิตของสังคมสมัยนี้ เต็มเป็นด้วยความเร่งรีบ งานรัดตัว แก่งแย่งชิงดี มีการแข่งขันกันตลอดเวลา และไม่เว้นแม้แต่การกีฬาอีกด้วย

ไม่อาจจะปฎิเสธได้เลยว่า “การวิ่ง” ในปัจจุบันนี้ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ส่วนวัตถุประสงค์การวิ่งของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป บ้างก็วิ่งล่าเงินรางวัลในงานแข่งขันต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีวิตหาเลี้ยงครอบครัว บ้างก็วิ่งเป็นงานอดิเรกผ่อนคลายความเครียด บ้างก็วิ่งเพื่อเข้าสังคมพบปะสังสรรกับเพื่อนฝูงที่มีความชอบเดียวกัน บ้างก็วิ่งเพื่อทำลายสถิติส่วนตัว ในแต่ละงานดูการพัฒนาของตัวเอง บ้างก็วิ่งเพื่อคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้อยู่ในโซนที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุด ไม่ว่าเหตุผลของการวิ่งเป็นอย่างไร ถ้าไม่บาดเจ็บเสียก่อน สุขภาพทางกายจะดีขึ้นแน่นอน

โดยทั่วไปงานแข่งขันวิ่งจะมีเงินรางวัลหรือถ้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะอันดับที่หนึ่งถึงสามแล้วแต่ผู้จัด นับเป็นที่หมายปองของนักวิ่งขาแรงที่ฝึกซ้อมมาเพื่อพิชิตรางวัลเหล่านั้นในการแข่งขันท่ามกลางนั่งวิ่งหลายพันคน หากเป็นงานใหญ่ ๆ ผู้สนใจเข้าร่วมมีจำนวนนับหมื่นคน แต่งาน “เที่ยวไป วิ่งไป Like a Local”  เป็นการวิ่งรูปแบบใหม่ที่ผมยังไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน นับว่าเป็นรูปแบบที่น่าสนใจและเหมาะกับวิถีการดำเนินชีวิตที่หลายๆ คนเรียกหา ซึ่งตรงกันข้ามกับวิถีสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการดิ้นรนเอาตัวรอด ความเร่งรีบ จึงได้มีงานวิ่งที่ปรับสมดุลไปสู่วิถีสโลว์ไลฟ์ ซึ่งบรรยากาศงานวิ่งเป็นอย่างไรนั้น ผมจะมาเล่าให้ฟังกันต่อจากนี้

เช้าตรู่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 เวลาตีห้า ณ เฮินไทลื้อ อ.ภูซาง จ.พะเยา นักวิ่งเพื่อการท่องเที่ยวได้มารวมตัวกันที่จุดสตาร์ท บริเวณงานมีอาหารเช้าซึ่งทางผู้จัดเตรียมไว้ให้เรียกได้ว่ารับประทานกันไม่อั้นเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นกล้วย ข้าวต้มมัด โอวัลติน ฯลฯ

บนเวทีมีครูนำเต้นแอโรบิคให้แก่นักวิ่งได้เตรียมความพร้อมยืดเส้นก่อนที่จะปล่อยตัวซึ่งแบ่งออกเป็นสามกลุ่มโดยมีผู้นำวิ่งควบคุมเวลานำทางให้กับนักวิ่ง กลุ่มหนึ่งคือจะควบคุมความเร็วไว้ที่ประมาณหกถึงเจ็ดนาทีต่อหนึ่งกิโลเมตร คุณสมบัตินักวิ่งที่เหมาะสมกับกลุ่มนี้ต้องเป็นนักวิ่งที่ผ่านการวิ่งระยะสิบกิโลเมตรมาแล้วหรือผ่านการวิ่งฮาล์ฟและฟูลมาราธอน

กลุ่มสองคือกลุ่มวิ่งม่วนม่วนซึ่งจะควบคุมความเร็วไว้ที่ประมาณแปดถึงเก้านาทีต่อหนึ่งกิโลเมตร คุณสมบัตินักวิ่งที่เหมาะสมคือวิ่งไปถ่ายรูปไปได้อย่างไม่ลำบากใจ ส่วนกลุ่มสามคือกลุ่มสุดท้ายปิดขบวน กลุ่มต๊ะต่อนยอน ซึ่งจะไม่มีการควบคุมความเร็วเนื่องจากเดินเป็นหลักเพื่อซึมซับบรรยากาศเต็มที่ นักวิ่งสามารถสลับกลุ่มได้ระหว่างทางแต่ไม่อนุญาติให้แซง Pacer กลุ่มหนึ่งเป็นพอ นักวิ่งจะได้รับแก้วที่ระลึกซึ่งทำจากไม้เพื่อเติมน้ำระหว่างทางวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณขยะ ระยะทางวิ่งรวมทั้งสิ้น 11 กิโลเมตร และมีจุดท่องเที่ยวอยู่หกจุดซึ่งรวมเฮินไทลื้อ ณ จุดสตาร์ทด้วย

เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการมาวิ่งครั้งนี้คือการซึมซึบบรรยากาศให้เต็มที่ ผมจึงได้ออกตัวเป็นกลุ่มสุดท้าย ระยะทางจากเฮินไทลื้อไปป่าชุมชนนั้นห่างกันสองกิโลเมตรครึ่ง ระหว่างทางได้วิ่งเรียบแม่น้ำแวะถ่ายรูปบนสะพานข้ามแม่น้ำ วิ่งผ่านบ้านของชุมชนซึ่งแทบไม่ต้องรอถึงจุดให้น้ำที่ป่าชุมชนเลย เพราะชาวบ้านแต่ละบ้านต่างเอาผลไม้และน้ำมาวางไว้หน้าบ้านเพื่อต้อนรับนักวิ่งที่วิ่งผ่านหน้าบ้านแทบทุกบ้านเลยก็ว่าได้

เมื่อวิ่งถึงป่าชุมชน นักวิ่งก็จะได้วิ่งผ่านป่าซึ่งเป็นเส้นทางเทรลเล็กๆ เปลี่ยนบรรยากาศการวิ่งเข้าสู่ธรรมชาติหน่อยๆ หลังจากนั้นก็วิ่งต่อในระยะทางสองกิโลเมตรไปบ้านสวนผักมีสุข เส้นทางวนอยู่ตามชุมชนได้มีโอกาสแวะชิมผลไม้ที่ชาวบ้านนำมาวางหน้าบ้าน อาทิเช่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า และทีเด็ดอยู่ตรงนี้ครับ “มะหลอด” ซึ่งเป็นผลไม้รสเปรี้ยว มีสรรพคุณเป็นยาระบายแก้ท้องผูก ชาวบ้านบอกว่าถ้ารับประทานพร้อมน้ำเปล่า วิ่งไปไม่เกินสิบนาทีต้องแวะเข้าห้องน้ำแน่นอน

เดินไป ชิมไป พูดคุยไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านสวนผักมีสุข จุดนี้เรียกได้ว่าอิ่มจริงจัง มีทั้งเครื่องดื่มเกลือแร่ สลัดโรลพร้อมด้วยน้ำจิ้มหลากหลาย ที่จัดไปหลายแก้วคือสัปปะรดปั่นผสมใบโหระพา ซึ่งผักที่นี่ปลูกเองแบบปลอดสารพิษ ขอบอกว่าสดมากกกก

เติมพลังเสร็จเรียบร้อยจึงได้เดินไปต่ออีกสองกิโลเมตรผ่านโรงเรียนคริสเตียนโดยมีเด็กนักเรียนยืนรอต้อนรับให้กำลังใจนักวิ่ง มีอาจารย์ชาวต่างชาติพูดภาษาอังกฤษกับเด็ก ๆ นับเป็นภาพที่สวยงามในชุมชนเล็กๆ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ถัดไปอีกหน่อยก็ถึงทุ่งนาธรรมชาติ

มีซุ้มไว้ให้นักวิ่งถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ถึงจุดนี้เวลาประมาณเก้าโมงเช้า ถือว่าใช้เวลาได้คุ้มค่ากับการซึมซับบรรยากาศตรงกับวัตถุประสงค์ของงาน นักวิ่งกว่าสามร้อยชีวิต กลุ่มที่ผมวิ่งเหลืออยู่สี่คนและที่เหลืออยู่ข้างหลังอีกห้าคนรวมพี่แป๊บจากไทยรันที่ดูแลนักวิ่งเก็บตกคนสุดท้าย

เดินไปอีกสองกิโลเมตรก็ถึงบ้านหมุนนับเป็นจุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญนั้น มีอาหารต้อนรับนักวิ่งได้แก่น้ำสมุนไพรและข้าวหนีบจิ้มกะละแม จุดนี้เป็นจุดสุดท้ายก่อนจะถึงเส้นชัยในซึ่งตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติภูซาง ระหว่างทางในช่วงกิโลเมตรสุดท้ายก็ได้เห็นนักวิ่งที่ถึงเส้นชัยก่อนหน้านี้เป็นเวลาหลายชั่วโมงทยอยนั่งรถผู้จัดกลับไปยังจุดสตาร์ทที่จอดรถไว้

เนื่องจากว่ากลุ่มเราถึงเป็นกลุ่มรองสุดท้ายกินเวลาเข้าไปเกือบสิบเอ็ดโมง อากาศช่วงเช้าที่เย็นสดชื่น บัดนี้เปลี่ยนเป็นอากาศร้อนแสงแดดแรง แต่ไม่สามารถแทรกแซงความสนุกของกิจกรรมที่ดำเนินมาตลอดช่วงเช้านี้ได้ ที่เส้นชัยมีนายอำเภอรอมอบของที่ระลึกซึ่งเป็นผ้าพันคอให้กับนักวิ่งทุกคนตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้าย บรรยากาศที่อุทยานแห่งชาติภูซางมีดนตรีสดขับร้องโดยพี่อัยย์ ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ดื่มด่ำไปกับเสียงเพลงเพราะ ๆ และอาหารหลากหลายเมนูคัดสรรมาให้โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หลังจากจบกิจกรรมงานวิ่งช่วงเช้าแล้วนั้น ช่วงเย็นก็ยังมีกิจกรรมสร้างความประทับใจส่งท้ายให้กับนักวิ่ง การเข้าร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ การรับประทานอาหารค่ำในบรรยากาศกาดมั่ว และชมการแสดงแบบไทลื้อ

ความประทับใจที่เด่นชัดที่สุดไม่พ้นความมีน้ำใจของชุมชมที่ให้การต้อนรับผู้มาเยือนเป็นอย่างดี โดยปกติ การวิ่งตอนเช้าของผมนั้น กิจวัตรที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นประจำระหว่างวิ่งคือการเข้าห้องน้ำอย่างที่ทุกคนรู้ๆ กัน และก็ได้การต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าของบ้าน แถมด้วยประโยคปิดท้ายที่จำได้ขึ้นใจว่า “ขอบใจมากๆ ที่มาเที่ยวบ้านนะหนู ไว้มาเที่ยวกันใหม่อีกนะ”

Loading Facebook Comments ...

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here