ปฐมบทไตรกีฬา เป้าหมายพิชิต IRONMAN ว่ายน้ำคืออุปสรรคเหนือขีดจำกัด ที่ต้องเอาชนะใจ

กลับมาอีกครั้งกับการบอกเล่าประสบการณ์ของการเข้าร่วมแข่งขันไตรกีฬาของเดอะกุ่ย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศไปแล้วว่า จะลงแข่งไตรกีฬาเพียงแค่สองครั้งในชีวิตเท่านั้น โดยจะไม่ลงรายการอื่นๆ อีกเลย เพราะส่วนตัวไม่ชอบไตรกีฬา เพียงแค่มีความฝันว่าอยากมีรูปที่หน้าเส้นชัยภายใต้แบรนด์ไตรกีฬาที่ได้รับขนานนามว่าเป็นกีฬาเบอร์หนึ่งของโลก นั่นคือ IRONMAN

ไตรกีฬาภายใต้แบรนด์ IRONMAN มีอยู่สองระยะ คือ IRONMAN 70.3 และ IRONMAN ซึ่งมีการจัดการแข่งขันอยู่หลายประเทศทั่วโลกในหลายปีที่ผ่านมา ระยะ IRONMAN 70.3 ประกอบด้วย ว่ายน้ำ 1.9 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 90 กิโลเมตร และวิ่ง 21 กิโลเมตร หรือเรียกอีกอย่างว่า Half IRONMAN ส่วนอีกประเภทหนึ่งเรียกว่าระยะ Full IRONMAN หรือ IRONMAN ประกอบด้วย ว่ายน้ำ 3.8 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 180 กิโลเมตร และวิ่ง 42.195 กิโลเมตร ทั้งสองระยะถือเป็นการแข่งขันไตรกีฬาที่ยอมรับของนักกีฬาทั่วโลกว่าแกร่งที่สุดบรรดาประเภทกีฬาทั่วๆ ไป เพราะทั้งสามชนิดกีฬาดังกล่าวต้องแข่งขันต่อเนื่องกันโดยมีเพียงแค่จุด Transition เป็นจุดเปลี่ยนอุปกรณ์เท่านั้น

สเน่ห์ของ IRONMAN คือ ความสามารถในการเล่นกีฬาหลากหลายประเภทภายในคนๆ เดียว หลายคนว่ายน้ำและวิ่งได้ แต่ปั่นจักรยานไม่เป็น หลายคนปั่นจักรยานและว่ายน้ำได้ แต่วิ่งไม่ได้เพราะเจ็บเข่า และอีกหลายคนวิ่งและปั่นจักรยานได้ แต่ว่ายน้ำไม่เป็น ซึ่งผมเป็นประเภทสุดท้าย มีความไฝ่ฝันอยากจบ IRONMAN แต่ว่ายน้ำไม่เป็น ไม่เป็นแม้กระทั่งการลอยตัวเฉยๆ อยู่บนน้ำ

ผมตั้งใจไว้ว่า การเริ่มต้นไตรกีฬาครั้งแรกของเดอะกุ่ยคือ IRONMAN 70.3 ซึ่งไม่ใช่ระยะเริ่มต้น การว่ายน้ำ 1.9 กิโลเมตร สำหรับคนว่ายน้ำไม่เป็นนั้น เหมือนการฆ่าตัวตายกลางทะเลเลยทีเดียว ส่วนเรื่องการปั่นจักรยาน 90 กิโลเมตร กับการวิ่ง 21 กิโลเมตร นับเป็นกีฬาที่อยู่บนบก ซึ่งไม่อันตรายต่อชีวิตมาก

ความฝันในวัยเด็กใกล้เข้ามาแล้ว เนื่องจากการแข่งขันรายการ IRONMAN 70.3 ได้มาจัดในประเทศไทยเป็นปีแรกหลังจากที่หยุดจัดกว่าสี่ปี โอกาสแบบนี้ทำให้ผมพลาดไม่ได้ ใจหนึ่งก็อยากจะพิชิต แต่อีกใจหนึ่งก็พูดกับตัวเองว่า เราว่ายน้ำไม่เป็น จนกระทั่งหมดเขตสมัคร ผมจึงตัดสินใจส่งเมลไปขอ Late Registration ในใจตอนนั้น ถ้าทางผู้จัดอนุมัติก็จะไปเรียนว่ายน้ำทันที และทุกอย่างก็เป็นใจ ผมได้รับ e-mail ตอบกลับมาว่า ให้รีบไปลงทะเบียนทางเวปได้เลย ซึ่งเปิดให้อีกไม่มาก จึงได้ชวนสมาชิกทีมมีแสงไบค์อีกสี่ท่านไปร่วมชะตากรรมเดียวกัน ประกอบไปด้วย หมอเอ หมอใหญ่ พี่น็อต และผม หลังจากที่สมัครเรียบร้อย ต่างคนต่างมีภารกิจในการงานที่แตกต่างกันไป หมอเอและหมอใหญ่ก็ต้องดูแลคนไข้และเปิดคลีนิค ทำให้ต้องซ้อมวิ่งกันหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ส่วนการซ้อมปั่นจักรยานของคุณหมอทั้งสองคือการปั่นเทรนเนอร์ซึ่งเป็นการคุม Watts ผ่านพาวเวอร์มิเตอร์ นับเป็นนวัตกรรมที่ทันสมัยและเหมาะแก่การฝึกซ้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ทางพี่น็อตก็ซ้อมปั่นจักรยานกับทีมมีแสงไบค์ในตอนเย็นและซ้อมวิ่งกับภรรยาและลูกๆ ทางด้านการว่ายน้ำก็เป็นช่วงเวลาเช้าๆ เช่นเดียวกับพี่หมอทั้งสอง

เดอะกุ่ยเดินทางอยู่เสมอ ทำให้โปรแกรมการซ้อมจะเปลี่ยนแปลงตามสถานที่ รองเท้าวิ่งรวมถึงกางเกงและแว่นตาว่ายน้ำจะพกติดตัวอยู่ตลอด เมื่อมีโอกาสก็ซ้อมได้เลย วาระสำคัญที่สุดคือการซ้อมว่ายน้ำให้ได้ทั้งในสระและทะเล มาตรฐานของ IRONMAN นั้น ห้ามใช้อุปกรณ์ชูชีพใดๆ และมีเวลา Cut-off Time อาทิ เช่น IRONMAN 70.3 นั้น ผู้แข่งขันต้องว่ายน้ำระยะทาง 1,900 เมตร ให้ทันภายในเวลา 1 ชั่วโมง 10 นาที ถ้าว่ายน้ำขึ้นมาไม่ทัน ทางทีมงานจะห้ามไม่ให้แข่งขันต่อในทันทีโดยไม่มีการอะลุ่มอล่วยแต่อย่างใด นับว่าเป็นมาตรฐานที่สากล ทำให้แบรนด์ IRONMAN เป็นรายการแข่งขันไตรกีฬาเบอร์หนึ่งของโลกตลอดกาล

จากการศึกษากฎกติกาอย่างละเอียดแล้วนั้น สร้างความกังวลใจให้กับมือสมัครเล่นบ้านนอกอย่างพวกเราทั้งสี่คนเป็นอย่างมาก ต่างคนต่างซ้อมกันไม่ให้ขาด เพราะเราสมัครก่อนแข่งเพียงแค่ 20 วัน สำหรับผมนั้น เป็นเวลา 20 วันที่ต้องว่ายน้ำให้ได้และเร็วพอที่จะว่าย 1.9 กิโลเมตรภายใน 1 ชั่วโมง 10 นาที ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก

ผมได้สมัครเรียนว่ายน้ำที่ค่ายทหารเรือ อ.สัตหีบ เป็นการเรียนว่ายน้ำสองวัน โดยวันแรกเป็นการเรียนในสระเกี่ยวกับการทรงตัวในน้ำและทักษะเบื้องต้นด้านการตีขาและแกว่งแขน ซึ่งเข้าใจได้ดีแต่การเรียนวันเดียวไม่ได้ช่วยอะไรมาก ทุกอย่างต้องใช้การฝึกฝนเพราะชั่วโมงบินสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ เมื่อได้ฝึกทักษะเบื้องต้นเรียบร้อย วันที่สองจะเป็นการลงพื้นที่จริง ซึ่งเป็นการว่ายน้ำในทะเลเป็นระยะทางรวมแล้วกว่า 1,000 เมตร มีทุ่นอยู่สองทุ่นกลางทะเล ทุ่นแรกห่างสองร้อยเมตรจากฝั่ง ทุ่นที่สองอยู่ห่างไปสี่ร้อยเมตร ครูฝึกให้ว่ายไปทุ่นแรกก่อนแล้วกลับมาที่ฝั่ง การว่ายน้ำในสระกับทะเลต่างกันชัดเจนตรงที่การมองเห็นใต้น้ำ จังหวะการว่ายน้ำจึงแตกต่างกันมาก ซึ่งการว่ายในทะเลต้องมีการเงยหน้าขึ้นมามองเส้นทางเพื่อไม่ให้หลงทางเพราะใต้ทะเลไม่มีเส้นผ่าศูนย์กลางให้ว่ายตามเหมือนในสระ ปัญหาของการว่ายน้ำในทะเลจึงเป็นเรื่องการว่ายเกินระยะและหลงทิศทำให้เสียเวลา นี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาของผมซึ่งนอกจากจะว่ายช้าแล้วยังกลัวที่จะว่ายเกิน Cut-off time อีกด้วย

เมื่อครูฝึกจะให้ว่ายออกไปที่ทุ่นที่หนึ่งในระยะทางสองร้อยเมตร ครูแจ้งให้ทุกคนกดนาฬิกาตั้งเวลาได้ ตายล่ะ! นาฬิกาอะไร? เนื่องจากผมเป็นคนปั่นจักรยานที่ไม่ใช้ไมล์ ทำให้ไม่ได้ศึกษานาฬิกาสมาร์ทวอร์ชที่ใช้ในการดูอัตราการเต้นของหัวใจและจับระยะทางดูความเร็ว ซึ่งจำเป็นต่อการบันทึกสถิติต่างๆ ในแต่ละชนิดกีฬา แต่ในเวลานั้น ทุกคนมีนาฬิกากันหมด ผมจึงต้องบอกพี่ข้างๆ ที่ไม่รู้จักกันว่า ถ้าพี่ว่ายไปถึงทุ่น รบกวนจับเวลาของผมให้ด้วยนะครับ

ทันใดนั้นก็เดินลงทะเลครั้งแรกในชีวิตในขณะที่ไม่ใส่อุปกรณ์ชูชีพใดๆ และต้องว่ายน้ำในทะเลที่ไกลที่สุดในชีวิตคือสองร้อยเมตรจากฝั่ง แต่ทางครูฝึกมีการเซฟตี้อย่างดี มีทีมงานดูแลฉุกเฉินอยู่บนเรือหลายลำเป็นระยะๆ คอยประกบและสะกิดด้วยไม้พายเพื่อไม่ให้นักเรียนว่ายหลงทิศ เมื่อว่ายไปซักระยะทุกคนก็ไปกันหมด เหลือแต่ป้าหนึ่งคนที่ว่ายคู่กันอยู่ข้างๆ ป้าหายใจด้านขวา ส่วนผมหายใจด้านซ้าย เมื่อว่ายคู่กันก็ต้องหันมามองหน้ากันโดยปริยาย ต่างฝ่ายต่างเชื่อใจซึ่งกันและกันไม่ยอมแหงนไปมองทิศทางของทุ่นที่เราจะไป เมื่อว่ายไปลักษณะนี้ประมาณสิบกว่าสโตรก จึงเงยหน้าขึ้นมาพร้อมกัน ตายๆๆๆ!!! ภาพที่เห็นคือฝั่งไม่ใช่ทุ่น นั่นแปลว่าเราว่ายเป็นวงกลมเพราะหลงทิศเพราะไม่เงยมาดูทาง ความกังวลเพิ่มขึ้นทวีคูณทั้งเรื่องนาฬิกาและการว่ายหลงทิศ เพราะทุกคนที่มาเรียนกว่าครึ่งผ่านการลงไตรกีฬาอย่างน้อยระยะสปริ้นมาแล้ว (ว่ายน้ำ 750 เมตร ปั่น 20 km. วิ่ง 5 km.) ซึ่งผลประกอบการในการว่ายน้ำของผมน่าอายเหลือเกินเมื่อเทียบกับการมาเรียนว่ายน้ำก่อนแข่ง IRONMAN 70.3 ไตรกีฬาครั้งแรกในชีวิตเพียงแค่ยี่สิบวัน

นาฬิกาก็ไม่มี ว่ายก็ไม่ตรง แถมช้า ท่าทางผิด และหลงทาง หายนะครั้งนี้จะเป็นเช่นไรก็พอจะจินตนาการได้ ระหว่างการว่ายไปทุ่นสี่ร้อยเมตรในรอบสุดท้ายนั้นย่ำแย่ที่สุด กล่าวคือ ระหว่างอยู่กลางทะเล ผมเห็นทุกคนรอกลับบ้านและรอถ่ายรูปรวมอยู่ที่ฝั่ง ซึ่งผมว่ายช้าที่สุดและเหลือแค่คนเดียวในทะเลพร้อมด้วยทีมเซฟตี้ที่ประกบอยู่บนเรือกว่าสี่ลำที่อยู่รอบข้าง จิตตกแค่ไหนถามใจเธอดู

พอว่ายถึงฝั่งก็รีบถ่ายรูปรวมและหาที่อาบน้ำพร้อมขับรถกลับ กทม. ระหว่างทางขับรถกลับบ้านนั้น สิ่งหนึ่งที่คิดอยู่ในใจคือต้องกลับไปซื้อนาฬิกา และแน่นอนก่อนถึงบ้านผมซื้อนาฬิกาสมาร์ทวอร์ชหนึ่งเรือนเพื่อใช้ในการว่ายน้ำ ปั่นจักรยานและวิ่ง เมื่อซื้อเสร็จปุ๊ปก็โพสขายทันทีโดยระบุไว้ว่า ขอประกาศขายนาฬิกาหนึ่งเรือนต่ำกว่าราคาซื้อสามพันบาทหลังจากจบ IRONMAN 70.3 ซึ่งไม่รู้ว่าจะจบหรือไม่ ขอใช้เป็นเวลายี่สิบวัน

 

หลังจากจิตตกและตั้งสติได้นั้น จึงรีบไปลงสระที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง โดยพูดกับตัวเองว่าต้องจบให้ได้ ค่าสมัครแพงรวมค่าใช้จ่ายสูงกว่าสองหมื่นบาท ยี่สิบวันคุณภาพจะต้องว่ายเช้าเย็นจนถึงวันแข่งและจะไม่ซ้อมจักรยานและวิ่งเลย เพราะถ้าว่ายไม่ทัน Cut-off time ทีมงานจะไม่ให้ไปต่อ ฉะนั้นถ้าว่ายไม่ทันทุกอย่างก็ไร้ความหมาย

ผลงานการซ้อมว่ายน้ำในยี่สิบวันจนถึงก่อนวันแข่งหนึ่งวัน เวลาที่อยู่ในสระ 1.9 km. ผมว่ายเกินเวลา 1 ชม. 10 นาทีแทบทุกวัน ถึงขนาดดูการปรับท่าทางว่ายน้ำผ่าน YOUTUBE อยู่บ่อยครั้ง แต่เวลาไม่ดีขึ้นเลย

จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายได้เก็บกระเป๋าเดินทาง เนื่องจากทางผู้จัดไม่อนุญาติให้เอา FAT BIKE ลงแข่งขัน ผมจึงยืมรถจักรยานเสือหมอบของพ่อ ยืมแอโร่บาร์จากโกปุ้ยเพื่อนพ่อ ในใจลึกๆ ไม่มีความมั่นใจแม้แต่น้อย และคาดว่าคงไม่ได้ปั่นจักรยานต่อเพราะสถิติการซ้อมที่ผ่านมานั้น ไม่ผ่าน Cut-off time ว่ายน้ำอย่างแน่นอน

โปรดติดตามต่อไป…

-เดอะกุ่ย

Loading Facebook Comments ...

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here