“แยกหมอกออกจากควัน”

ครบทั่วประเทศกับชีวิตในการเดินทางของผม ขอบพระคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ภาคเหนือ) ที่ได้เชิญผมไปเป็นวิทยากรที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดที่ 77 ในการเดินทางของผม ปกติเหตุผลหลักๆในการเดินทางของผม คือ ไปทำงาน ถ้าไม่มีงานหรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่า ผมมักเลือกที่จะนอนพักอยู่บ้าน เหนื่อยมาเยอะ

พอบอกใครใครว่าจะไปแม่ฮ่องสอน หลายต่อหลายคนก็อิจฉา ว่าดีจังได้ไปเที่ยวเมืองที่สวยงาม แล้วก็มีคำถามต่อมาว่า จะไปทำไมช่วงนี้ละ หมอกควันเยอะ มีไฟป่า อากาศร้อน รอไปช่วงหน้าหนาวจะสวยกว่า ประโยคนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ผมยิ่งอยากที่จะเดินทางไปแม่ฮ่องสอน

ผู้ร่วมทริบเดินทางส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว มีผมคนเดียวที่เกี่ยวกับงานอนุรักษ์ โปรแกรมวันแรกที่ไปถึงแม่ฮ่องสอน ตอนที่อยู่บนเครื่องแล้วมองลงมา เฮ้ย นี่มันหมอกหรือควัน (ดนตรีมา)

ประเด็นนี่เองยิ่งทำให้ผมคิดการบ้านอยู่ตลอดเวลาว่า เมืองแม่ฮ่องสอน ที่เป็นเมืองแห่งธรรมชาติและวัฒนธรรม ทำอย่าไร ที่จะทำให้ช่วง 4 เดือนหน้าร้อน เป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว ไม่ต้องไปอัดกันในช่วงหน้าหนาว เอาง่ายๆ เที่ยวหน้าโลว์อย่างไรให้ไฮโซ? การแยกหมอกออกจากควันก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดี

กรณีหมอกควันในภาคเหนือที่เกิดจากสิ่งที่เรามักพูดติดปากว่า “ไฟป่า” นั้น แท้จริงแล้ว ไฟป่า หมายถึง ไฟที่เกิดจากสาเหตุใดก็ตาม แล้วลุกลามไหม้ในป่าได้ โดยอิสระปราศจากการควบคุม แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ไฟป่าที่เกิดขึ้นในบ้านเรานั้นเกิดจากฝีมือมนุษย์ จุดไฟโดยวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เผาไร่เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกโดยไม่มีการควบคุม เผาป่าเพื่อเก็บหาของป่า ล่าสัตว์เพื่อให้สัตว์หนีจากที่หลบซ่อน เพื่อความสะดวกในการเดินป่า เลี้ยงสัตว์เผาป่าเพื่อให้หญ้าอ่อนแตกเป็นอาหารสัตว์ การพักแรมในป่าจุดเพื่อหุงต้มอาหาร จุดเพื่อกลั่นแกล้ง กรณีเกิดการขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับส่วนราชการ และจุดโดยความคึกคะนองปราศจากเหตุผลใดใด ประเภทที่เราทราบกันว่า เกิดจากการสีกันของต้นไม้หรือกิ่งไม้แห้งตามธรรมชาติจนเกิดประกายไฟนั้น แทบจะไม่มี

แต่รู้ไหมครับว่า ไฟป่าเมื่อเกิดขึ้นนั้นมีประโยชน์มากเช่นกัน เช่นจะเป็นการทำลายแมลง เชื้อโรคและวัชพืชที่แย่งอาหารและทำลายต้นไม้ให้หมดไป เป็นการทำให้เปลือกเมล็ดพืชบางลงและแตกออก สามารถงอกเป็นต้นอ่อนได้ง่ายขึ้น เท่ากับเป็นการช่วยปลูกต้นไม้นั่นเอง ถือว่าเป็นการสร้างสมดุลแห่งป่าเลยละครับ เพราะฉะนั้นไฟป่า ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสมอไปกับป่าผลัดใบ

หากเป็นไฟป่าที่เกิดจากการควบคุมโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดำเนินการชิงเผา เป็นการเผาที่ควบคุมได้ กำหนดพื้นที่ได้ ส่งผลกระทบด้านมลพิษน้อยมาก หมอกควันเกิดขึ้นน้อย ไฟป่ารูปแบบนี้ก็จะกลายเป็น “ไฟเย็น” สามารถเผาได้ทุกปี เพราะถ้าเว้นปีไว้ไม่เผา โอกาสควบคุมไฟป่าที่เกิดขึ้นจะยากมากๆเพราะมีใบไม้แห้งสะสมจำนวนมาก

แต่ถ้าไฟป่าที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ดังวัตถุประสงค์ข้างต้น ไฟเหล่านั้นก็จะกลายเป็น ”ไฟร้อน” ที่ยากต่อควบคุม ผลกระทบวงกว้าง เกิดมลพิษทางอากาศอย่างที่เราได้รับทั่วถึง ไม่แยกว่าใครเป็นใคร

ถึงจุดนี้ คำตอบที่เราต้องเข้าไปเอาใจช่วยและสนับสนุนคือ สถานีควบคุมไฟป่าในแต่ละพื้นที่ ในการปฎิบัติงานซึ่งมีประสิทธิภาพมากในการควบคุมไฟป่า หากประชาชนในพื้นที่เข้าใจและให้ความร่วมมือ เช่น แจ้งเจ้าหน้าที่หากต้องการเผาเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม หรือ ไม่เผาป่าในช่วงเวลาที่กำหนดตามประกาศของหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด หรือระหว่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเข้ามาสนับสนุนเครื่องพ่นละอองน้ำเพื่อกำจัดหมอกควัน “ไฟเย็น” เหล่านี้ก็จะนำมาสู่ความสมบูรณ์และสมดุลของทุกสรรพสิ่ง ผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจที่หมุนเวียนของชาวแม่ฮ่องสอนและภาคเหนือในเรื่องการท่องเที่ยวก็จะเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แล้วคำว่า low season จะหมดไป จะมีแต่คำว่า “แม่ฮ่องสอน ผ่อนคลาย”

แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่อยู่กลางหุบเขา เป็นที่ราบเพียง 6 ตารางกิโลเมตร โดย 2 ตารางกิโลเมตร เป็นสนามบิน การเดินทางก็อย่างที่ทราบกับ คือทางรถยนต์ที่มีโค้งทั้งหมด 1,864 โค้ง ใครผ่านมาได้ไปรับประกาศนียบัตรด้วยความภาคภูมิใจถ้าไม่อ๊วกนะ ส่วนการเดินทางอากาศนั้น จะต้องนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพมาเชียงใหม่ แล้วนั่งต่อจากเชียงใหม่ไปแม่ฮ่องสอนอีกที ทราบมาว่า สิ้นเดือนนี้สามสี่สายการบินจะเปิดบินตรงมาที่แม่ฮ่องสอนเลย ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงสบายๆ

เมื่อมาถึง คุณจะได้สัมผัสกับเมืองที่ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต มีวิถีชีวิตที่เหมือนกันกับประเทศเมียนม่า ใครชอบเข้าวัด ไหว้พระ แนะนำเลยครับ เข้าวัดนี้ออกวัดนี้ ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ วัฒนธรรมของหมู่บ้านโบราณร้อยกว่าปีที่วิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ยังเหมือนเดิม คือ หมู่บ้านเมืองปอน อำเภอขุนยวม ถ้ามาแล้วต้องพักโฮมสเตย์ทานอาหารพื้นเมืองไทใหญ่
หลายหลายครับสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ท้ายที่สุด สถานที่สุดท้ายที่น่าสนใจคือ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ (ท่าโป่งแดง) เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติที่สนุกละเหมาะแก่การเรียนรู้พัฒนาทักษะของเกษตรกร

เยอะแยะมากมาย เล่าไม่หมด บอกได้คำเดียวว่า “ไปง่าย ไปนะ แม่ฮ่องสอน”

ปล. สารภาพครับ ว่าก่อนเดินทางผมแอบแวะร้านสะดวกซื้อ พกหน้ากากไปสี่ห้าชิ้น(เผื่อคนอื่นด้วย) เพราะผมเป็นคนที่แพ้ฝุ่นค่อนข้างง่าย แต่พอมาถึงจริงจริงแล้ว หมอกควันเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรเลย เที่ยวได้ สบายตัว สบายกระเป๋า ซื้อถั่วพื้นเมืองกลับมาเป็นของฝากได้มากมาย

#แยกหมอกออกจากควัน
#แม่ฮ่องสอนผ่อนคลาย
#ทททภาคเหนือ
#ทททแม่ฮ่องสอน
#ศูนย์พัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ #ท่าโป่งแดง
#ศูนย์ดับไฟป่าในโครงการพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน
#ททท #ทำทันที
#ประเทศไทย #THA
#SurvivalTogether

Loading Facebook Comments ...

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here