แม่ฮ่องสอน ครอสคันทรี

เรื่อง : -เดอะกุ่ย-

ภาคเหนือของประเทศไทยมีงานวิ่งที่ได้รับความนิยมซึ่งจัดแข่งอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั้งวิ่งถนนและวิ่งเทรล เนื่องจากเป็นภูมิประเทศที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักวิ่งในหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความชันสะสมที่สูงขึ้นตามระยะทางที่ไกลขึ้น หรือเส้นทางวิบากที่ต้องใช้ทักษะและรองเท้าที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม เรียกได้ว่าเป็นความถนัดเฉพาะตัว นักวิ่งบางท่านถักรองเท้าใส่เอง บ้างก็แต่งกายสไตล์แฟนซีสร้างสีสันเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี

แม่ฮ่องสอนครอสคันทรีเป็นงานวิ่งที่ได้รับกระแสชื่นชมจากนักวิ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมเมื่อปลายปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่ทีมผู้จัดงาน หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้มีงานนี้เกิดขึ้น โดยมีระยะทางวิ่งแต่ละประเภททั้งสิ้น 3 ระยะ ประกอบไปด้วย Fun Run 6 กิโลเมตร, Mini – Marathon 11.3 กิโลเมตร, และ Cross Country 26 กิโลเมตร เส้นทางวิ่งผ่านจุดท่องเที่ยวสำคัญของเมืองสามหมอก เสื้อวิ่งและรางวัลมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยถูกออกแบบให้สอดคล้องกับชนเผ่าพื้นเมือง สื่อถึงวัฒนธรรมชาติพันธุ์ของพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือได้ว่าเป็นการแข่งขันเชิงท่องเที่ยวเน้นสุขภาพและเรียนรู้วัฒนธรรมพื้นถิ่น วัตถุประสงค์ของผู้จัดสอดคล้องกับเป้าหมายของนักวิ่งสายท่องเที่ยวซึ่งไม่เน้นผลการแข่งขัน และผมก็เป็นหนึ่งในสายวิ่งกลุ่มดังกล่าวเช่นกัน

หลังจากที่วิ่งในป่าบาลา อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานวิ่งเทรลแห่งเดียวในชีวิตที่เคยสัมผัส แม่ฮ่องสอนครอสคันทรี 2019 จึงเป็นอีกหนึ่งสนามที่ได้ตั้งหน้าตั้งตารอเพื่อไปพิชิต ในปีนี้ผู้จัดเพิ่มระยะมาราธอนขึ้นมา จึงประกอบไปด้วย Fun Run 6 กิโลเมตร, Mini – Marathon 11.6 กิโลเมตร, Half – Marathon 22.8 กิโลเมตร และ Cross Country 42 กิโลเมตร ส่วนผู้สมัครประเภท VIP สามารถลงวิ่งได้ทุกระยะ

ระยะมาราธอนจะมีทั้งถนนและเทรล ซึ่งเส้นทางเทรลตั้งอยู่ระหว่างจุดกลับตัวมีระยะทาง 5 กิโลเมตร นักวิ่งสามารถเลือกประเภทรองเท้าให้เหมาะสมกับความถนัด เพราะการเอารองเท้าวิ่งเทรลมาวิ่งทางถนนกว่า 37 กิโลเมตร นอกจากดอกยางใต้รองเท้าจะสึกเร็วแล้ว ยังแบกน้ำหนักโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ในทางตรงกันข้าม การเอารองเท้าวิ่งถนนมาวิ่งในทางเทรล นอกจากจะลื่นแล้ว หลายคนคงทำใจไม่ได้ อาทิเช่นรองเท้าของผมเป็นต้น บินไปซื้อมาจากประเทศญี่ปุ่น รองเท้า Limited Edition Tokyo Marathon made in Japan ถ้าใส่คู่นี้มา ผมคงจะถอดรองเท้า ผูกเชือกห้อยคอและยอมเดินเท้าเปล่าไปเรื่อยๆ งานนี้จึงตัดสินใจได้ไม่ยาก ระยะทาง Cross Country 42 กิโลเมตร ผมเลือกใส่รองเท้าวิ่งเทรล

เนื่องจากเป็นประสบการณ์ตรง จึงขอเน้นการวิ่งในระยะ Cross Country 42 กิโลเมตร ประมาณตีสามครึ่ง วันที่ 15 กันยายน 2562 นักวิ่งต่างยืดเส้นยืดสายหน้าเส้นสตาร์ทซึ่งตั้งอยู่ที่สนามบินแม่ฮ่องสอน บรรยากาศดี ฝนตกปรอยๆ เป็นละอองเล็กๆ เวลาปล่อยตัวเรียงลำดับตามประเภทของระยะทางวิ่ง Cross Country 42 กิโลเมตร ปล่อยตัว 4.00 น. โดยมี Cut off time จุดที่หนึ่ง ณ จุดกลับตัว กิโลเมตรที่ 21 เวลา 8.00 น. และจุดสุดท้ายที่เส้นชัยก่อน 12.30 น., Half – Marathon 22.8 กิโลเมตร ปล่อยตัว 5.00 น. โดยมี Cut off time 11.00 น., Mini – Marathon 11.6 กิโลเมตร ปล่อยตัว 6.00 น. โดยมี Cut off time 9.30 น, และ Fun Run 6 กิโลเมตร ปล่อยตัว 6.30 น. โดยมี Cut off time 8.30 น.

เนื่องจากเป็นการวิ่งในตอนเช้ามืด สำหรับระยะมาราธอนซึ่งปล่อยตัวตีสี่นั้น ทางผู้จัดกำหนดให้มีอุปกรณ์บังคับคือไฟส่องทาง (Head Lamp) เพื่อความปลอดภัยของนักวิ่งเอง หลังจากอบอุ่นร่างกายกันพอสังเขป ประธานกล่าวเปิดพิธี เวลาตีสี่ตรง นักวิ่งระยะมาราธอนกว่าร้อยชีวิตได้วิ่งท่ามกลางละอองฝนและความมืด ได้ยินเสียงรองเท้าสัมผัสพื้นและเสียงน้ำในเป้น้ำที่สะพายอยู่ข้างหลัง อุปกรณ์พร้อม ขนมปัง เจล เสบียงพร้อม ส่วนแรงวิ่งค่อยดูกันไปเป็นช่วงๆ เนื่องจากระยะทางยาวไกล กิโลเมตรแรกๆ วอร์มอัพไปก่อน ค่อยเดินจริงจังในช่วงท้าย

ท่ามกลางความมืดยังมีแสงไฟระหว่างทางเป็นระยะ มีเจ้าหน้าที่ตามจุดต่างๆ บอกเส้นทางให้นักวิ่ง ช่วงสามกิโลเมตรแรกได้วิ่งผ่านตลาดสายหยุด วัดจองกลาง วัดจองคำ เมื่อเจ้าหน้าที่ให้เลี้ยวขึ้นบันไดวัดพระธาตุดอยกองมู จากวิ่งก็เปลี่ยนเป็นเดินทันที รู้สึกถึงความยาวนานกว่าจะถึงยอดพระธาตุ ได้ชื่นชมแสงไฟที่ตัดกับพระธาตุไม่กี่วินาที ก็เลี้ยวลงทางรถยนต์ สภาพถนนเปียกต้องวิ่งไปเบรคไป เป็นการวิ่งลงเขาที่ยาวพอสมควร วิ่งอ้อมสนามกีฬาโรงเรียนเทศบาลและตรงผ่านสถานีขนส่งถึงเจ้าแม่กวนอิม วิ่งวนเข้าสวนสาธารณะท่าโป่งแดง ณ จุดนี้แม้เส้นทางจะมืดมากแต่รู้สึกถึงความร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่ ระหว่างทางที่ผ่านมา นักวิ่งต่างยืดระยะห่างกันทั้งข้างหน้าและข้างหลัง มองเห็นไฟส่องทางที่ติดอยู่บนหัวอยู่ไกลๆ วิ่งต่อไปผ่านสะพานท่าโป่งแดงซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำปายซึ่งอยู่ประมาณกิโลเมตรที่สิบ เส้นทางต่อจากนี้เริ่มมีเนินขึ้นลงสลับกันไปมุ่งหน้าสู่บ้านห้วยเสือเฒ่า ผมเดินเป็นระยะๆ ฝ่าธารน้ำไหลผ่านถนนหลายจุดเกือบห้ากิโลเมตร

กิโลเมตรที่สิบห้าท้องฟ้าเริ่มสว่าง เห็นความสวยงามจากธรรมชาติได้อย่างชัดเจน หมอกยามเช้าท่ามกลางหุบเขาแทนที่ความมืดในการวิ่งสองชั่วโมงที่ผ่านมา จากที่เหนื่อยแบบเงียบๆ อยู่กับตัวเองมานาน พอได้มาถึงจุดนี้ หายเหนื่อย จากวิ่งสลับเดินก็เปลี่ยนเป็นเดินยาวๆ ดูวิวทิวทัศน์ เส้นทางผ่านบ้านห้วยเสือเฒ่าและขึ้นเขาเพื่อที่จะวิ่งลงทางเทรลไปยังจุดกลับตัวและวิ่งย้อนกลับมารวมระยะทางห้ากิโลเมตร

ในที่สุด ไฮไลท์ของระยะมาราธอนก็มาถึง เส้นทางเทรลจากยอดเขาเดินลงไปสู่ลำธาร ไปสองกิโลเมตรครึ่งและกลับอีกสองกิโลเมตรครึ่ง เดินลัดเลาะป่าเข้าไปพบหมู่บ้านโดยมีชาวกะเหรี่ยงคอยาวยืนต้อนรับอยู่สองข้างทาง ประทับใจอย่างอธิบายไม่ถูก เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ได้มาเยือนที่แห่งนี้ เมื่อถึงจุดกลับตัวที่หมู่บ้านจึงได้ใช้เวลาเก็บเกี่ยวบรรยากาศอย่างเต็มที่กว่า 20 นาทีโดยประมาณ มีซุ้มยินดีต้อนรับนักวิ่ง มีเด็กๆ ยืนต้อนรับ มีผลไม้ กล้วยตาก บะหมีกึ่งสำเร็จรูป ผมรับประทานอาหารและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ เปลี่ยนจากคนวิ่งเป็นคนเชียร์สักพักใหญ่ๆ หมู่บ้านนี้คือบ้านห้วยปูแกง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่พลาดไม่ได้ของนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยียน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งต้องโดยสารด้วยทางเรือเท่านั้น เป็นประสบการณ์ที่ดีของผมที่ได้เข้ามาหมู่บ้านแห่งนี้ด้วยการเดินผ่านภูเขาโดยเริ่มต้นจากสนามบินแม่ฮ่องสอนเลยทีเดียว

ดื่มด่ำจนชื่นใจแล้วจึงเดินทางต่อ ก่อนร่ำลาทีมงานและชาวบ้าน ผมได้เทน้ำในเป้ออกเพื่อให้น้ำหนักลดลง เนื่องจากจุดให้น้ำ ผลไม้ เครื่องดื่มเกลือแร่ ทางผู้จัดเตรียมไว้เพียงพอตลอดเส้นทาง เส้นทางขากลับเป็นทางเดิมกับที่วิ่งมาช่วงเช้า แต่ต่างกันที่ช่วงสายๆ แดดร้อนมาก วิ่งย้อนกลับทางบ้านห้วยเสือเฒ่าผ่านสะพานท่าโป่งแดงโดยไม่วนเข้าสวนสาธารณะท่าโป่งแดง แต่วิ่งออกทางศาลากลางจังหวัดฯ ผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและวนไปเช็คพอยท์ที่สุดสายรันเวย์สนามบินแม่ฮ่องสอน จุดนี้ระยะทางไม่ไกลแต่ให้ความรู้สึกที่ยาวมาก สำหรับนักวิ่งมือสมัครเล่น ส่วนใหญ่มักจะก้าวขาไม่ออกประมาณกิโลเมตรที่ 32 และก็เป็นเรื่องจริง ผมเดินสลับวิ่งกว่าสิบกิโลเมตรและหยุดเกือบทุกจุดให้น้ำ รับประทานอาหารเต็มที่ ตรงไหนมีที่พักก็พักเต็มที่ หายเหนื่อยแล้วเดินต่อ เดินจนกระทั่งถึงเส้นชัย

และแล้วก็จบไปด้วยเวลา 6 ชั่วโมง 18 นาที นับว่าทันเวลา cut off ซึ่งผู้จัดกำหนดไว้ที่ 8 ชั่วโมงครึ่ง ความชันสะสมที่บันทึกไว้อยู่ที่ 838 เมตร ระยะทางรวม 42.33 กิโลเมตร เป็นการเดินเข้าเส้นชัยด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพี่ๆ ทีมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่รอคอยกว่าครึ่งวัน ซึ่งทุกท่านก็ได้ร่วมวิ่งในครั้งนี้ด้วยในระยะฟันรัน 6 กิโลเมตร

สำหรับถ้วยที่ระลึก VIP และถ้วยอันดับ 1-3 จะเป็นไม้เนื้อแข็งที่แกะสลักมือเป็นรูปตุ๊กตากะเหรี่ยงคอยาวโดยชุมชนชาวบ้านห้วยปูแกง เรียกได้ว่าเป็น Heartmade Trophy “ทำด้วยหัวใจ ส่งต่อด้วยรอยยิ้ม” สำหรับผู้ชนะ Overall ทั้งชายและหญิงในระยะ Marathon, Half-Marathon, และ Mini-Marathon จะได้รับเงินรางวัล ส่วนเหรียญและเสื้อที่ระลึกนั้นมีความหมายตามสี ซึ่งสื่อถึงสัญลักษณ์ของมูเซอดำคือสีดำ ส่วนสีขาวคือสีของข้าวปุ๊กซึ่งเป็นข้าวเหนียวสุกที่เอามาตำและปั้นเป็นก้อนกลมเพื่อเป็นเครื่องถวายต่อเทพเจ้าในช่วงปีใหม่ ส่วนสีแดงคือสีของเนื้อหมูหรือเลือดหมู นักวิ่งที่วิ่งจบระยะ Marathon และ Half-Marathon จะได้เสื้อ Finisher ส่วนที่เส้นชัยจะมีอาหารพื้นถิ่นของชาวแม่ฮ่องสอนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทาน

ส่วนตัวรู้สึกประทับใจกับการวิ่งครั้งนี้ มีหลายสิ่งที่ได้เก็บไว้ในความทรงจำ รอยยิ้มจากนักเรียนตามจุดให้น้ำ นักศึกษาวิชาทหารที่มาอำนวยความสะดวก นักวิ่งที่ร่วมชะตากรรมเดียวกันก่อให้เกิดมิตรภาพโดยไม่ต้องสาธยาย การต้อนรับด้วยหัวใจจากชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่ดูแลความปลอดภัยให้นักวิ่งได้ออกกำลังกายอย่างอุ่นใจ เจ้าหน้าที่กู้ภัย แพทย์และพยาบาล สเปย์บรรเทาความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ อาหารและผลไม้ มีแทบทุกจุดไม่เคยขาด และช่างภาพที่ตากแดดตากลมเพื่อเก็บภาพให้นักวิ่งทุกๆ คน สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณพี่ๆ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ดูแลเป็นอย่างดี และให้โอกาสได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ไว้จะนำเรื่องราวในทริปต่อไปมาเขียนให้อ่านกันอีกครับ

ขอบคุณภาพ :

KamuLarPhoto, Run Ga Ride – รันกะไรด์, Focus.Foto.Running, Eak kawee Photographer, หมูแบกกล้อง, FeelGood Photo, Go2Run วิ่งสิวะ, ถ้ากูบินได้ กูบินไปเเล้ว, ล่นเอาม่วนถ่ายเอามันส์, Ipixss4Runners, Photosneckk, อั่งเปา photographer, NuwatPhoto, ErkkyPhoto, AeStudio, M StoryRun บันทึกนักวิ่ง, Arterboy runner photographer, น้าเด่น81

 

Loading Facebook Comments ...

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here