แอ่วเหนือ เยือนพะเยา เฮาม่วนใจ๋

ในช่วงเวลาที่กรุงเทพเริ่มที่จะร้อนขึ้น ได้มีโอกาสเดินทางขึ้นเหนือจากคำเชิญของ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กองตลาดภาคเหนือ” เพื่อมุ่งหน้าไปยังจังหวัดพะเยา นอกจากที่จะไปร่วมงาน “เที่ยวไป วิ่งไป Like a Local” ที่ อ.ภูซางแล้ว จุดมุ่งหมายของเราในการเดินทางครั้งนี้ มีหลายรูปแบบด้วยกัน ซึ่งมนต์เสน่ห์ของพะเยา เป็นเมืองสงบที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม เพียบพร้อมไปด้วยวัฒนธรรมอันดี หากใครได้สัมผัสคงจะหลงรัก

เริ่มต้นเช้าวันใหม่ออกเดินทางจากโรงแรม M2 ในตัวเมืองพะเยา ตั้งแต่ตี 5 ใช้เส้นทางหลวง 1021 และตัดเข้าเส้นทางหลวง 1148 เพื่อมุ่งหน้าไปยัง “วนอุทยานภูลังกา” โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อมาถึง “จุดชมวิวภูลังกา” ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ของ “ภูลังการีสอร์ท” สัมผัสได้ถึงอากาศเย็นกำลังสบายพร้อมกับวิวทะเลหมอกสีขาว ตัดกับแนวเทือกเขาสันปันน้ำที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้านับเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ ยังซึบซับบรรยากาศนี้ไม่ทันจบ แสงสีทองรุ่งอรุณสาดส่องกระทบสายหมอกสีขาวจนกลายเป็นสีส้มทอง พร้อมพระอาทิตย์ดวงกลมโตค่อย ๆ เลื่อนขึ้นจากแนวยอดเขาจนลอยเด่นเป็นสง่าเพื่อบอกว่าวันใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่ง ณ เวลานี้ได้ยืนซึมซับบรรยากาศนานจนแทบลืมเวลาอาหารเช้าซึ่งทางรีสอร์ทได้จัดเตรียมไว้ให้

หลังจากอิ่มท้องก็มุ่งหน้าไปเดินทางไปยัง “วัดนันตาราม” เป็นวัดเก่าแก่อายุนับร้อยปีของอำเภอเชียงคำ เป็นวัดที่สร้างด้วยศิลปะแบบ “ไทใหญ่” ซึ่งตัววัดสร้างจากไม้สักทั้งหลัง โดยมีการตกแต่งได้อย่างสวยงาม เมื่อเดินเข้าด้านในพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากไม้สักทอง ข้างๆ องค์พระประธานจะมี พระพุทธรูปหินขาว และพระพุทธปฏิมาประธาน ประดิษฐานอยู่ ซึ่งตามประวัติแล้ววิหารหลังปัจจุบัน “พ่อเฒ่านันตา (อู๋) วงศ์อนันต์” เป็นผู้สร้าง เดิมทีพ่อเฒ่าเป็นชาวชนเผ่าปะโอ เกิดที่เมืองจี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของชาวไทยใหญ่ ซึ่งปัจจุบันคือ รัฐฉาน ในสาธาณรัฐเมียนมาร์ ในปัจจุบัน เดิมพ่อเฒ่าทำอาชีพเป็นพ่อค้าพูดได้หลายภาษา นำผ้าไหม อัญมณีมาขายที่เชียงใหม่ หลังจากนั้น เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้ยกหลานสาวให้เป็นภริยา และมอบหมายหน้าที่ให้ดูแลผลประโยชน์เกี่ยวกับไม้กับ บริษัท บอมเบย์เบอร์มาร์ ในเขตเชียงม่วน จึงได้ย้ายถิ่นมาอยู่ที่เชียงคำ ด้วยพ่อเฒ่ามีศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนาจึงได้สร้าง “วัดนันตาราม” ขึ้นดั่งเห็นในปัจจุบัน

จุดหมายต่อเราเรามุ่งหน้าไปยัง “เฮินไตลื้อ แม่แสงดา” หรือ “เรือนไทลื้อ” ซึ่งถือว่าเป็นเรือนไทลื้อเพียงหลังเดียวในเชียงคำ เมื่อเรามาถึง “แม่แสงดา สมฤทธิ์” เจ้าของ เฮือนไทลื้อ กำลังแต่งองค์ทรงเครื่องเพื่อที่จะออกมาต้อนรับเรา หลังจากที่ แม่แสงดา หรือ ยายแสงดา ได้ออกมาพูดคุยกับพวกเราอย่างสนุกสนานแล้ว ถึงเวลาที่ ยายแสงดา จะทำการโชว์ฝีมือทอผ้าให้ชม ถึงแม้วัยที่จะก้าวเข้าถึง 90 ปี แต่ยังคงมีความกระฉับกระเฉงเป็นอย่างมาก โชว์การทอผ้า กรอเส้นด้ายได้อย่างคล่องแคล้วว่องไว จนคนอายุน้อย ๆ น่าจะอายได้เลยทีเดียว

ออกจาก “เฮินไตลื้อ แม่แสงดา” มุ่งหน้าสู่จุดหมายต่อไปคือ “วัดอนาลโย” หรือ “วัดอนาลโยทิพยาราม” ซึ่งห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนดอยบุษราคัม มีพื้นที่ประมาณ 2,800 ไร่ พอมาถึงสิ่งที่สัมผัสได้คือความแปลกตาของวัดที่ไม่เหมือนวัดอื่น ๆ ด้านหน้าเป็นซุ้มประตูอิฐแดงสูงประมาณตึกสองชั้น ด้านบนมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่และมีนาคปรกพร้อมกับมีรูปปั้นเฝ้าประตูซ้ายขวา เมื่อเดินเข้ามาอีกหน่อยจะพบกับบ่อน้ำพุและด้านหลังจะมีรูปแกะสลักเป็นรูปมนุษย์ พอเดินเข้าไปอีกสัก 100 เมตร จะพบกับบ่อน้ำมีรูปปั้นเด็กล้อมรอบ มีลักษณะคล้ายกับเด็ก และกุมารทอง แต่ที่ทำให้คิดหนักก็คือรอบ ๆ บ่อจะมีขวดน้ำแดงวางรอบ ๆ เต็มไปหมด ซึ่งข้าง ๆ บ่อน้ำก็จะมีพระพุทธรูปปางนาคปรก 7 เศียร ซึ่งเศียรแต่ละเศียรแยกกันเป็นอิสระซึ่งต่างจากวัดไทยพุทธทั่ว ๆ ไป พอหลังจากเดินชมวัดเสร็จกำลังจะเดินกลับไปที่รถ ก็เจอกลุ่มที่มาด้วยกันเดินสวนมาจากตรงข้ามซุ้มประตูทางเข้า ก็ได้เรื่องว่า “วัดอนาลโยทิพยาราม” ไม่ได้มีทางเข้านี่ทางเดียวแต่ยังมีทางเดินประตูนาคซึ่งจะอยู่ด้านล่างหากเดินลงบันไดไประยะทางประมาณ 300 เมตร เราจึงเดินลงไปข้างล่างเพื่อรอคณะ

สำหรับใครที่อยากจะมาเที่ยวพะเยา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย (ดูแลพื้นที่ เชียงราย – พะเยา) โทร : 053 717433, 053 700051-2

#RideExplorer #Phayao #Amazingไทยเท่ #เมืองรองต้องลอง

Loading Facebook Comments ...

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here